
Photo: Tarun Hirapara (Unsplash.com)
Editor's Letter
Some Like It Raw
ในโลกแฟชั่นมีกฎข้อหนึ่งที่เรียกว่า “20-Year Rule” หรือ “กฎยี่สิบปี” ด้วยความเชื่อที่ว่า เทรนด์ของสไตล์เก่าๆ จะหวนกลับมาทุกๆ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นการแต่งกาย ดนตรี หรืองานออกแบบต่างๆ
ในยุค 90s ที่ภาพจำของคนส่วนใหญ่จะเป็นภาพของความมินิมัล ทั้งเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่ก็มีบางช่วงที่มีกระแสเรทโทรย้อนยุคสอดแทรกเข้ามาบ้างในยุคนั้น ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟซึ่งถือเป็นแนวดนตรีใหม่หลายเพลงจากหลายศิลปินต่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีพังค์ร็อคจากยุค 70s วัยรุ่นยุค 90s ลุกขึ้นมาใส่กางเกงยีนส์ขาม้าเดินกันทั่วเมือง รวมไปถึงเสื้อวอร์มอาดิดาสแบบที่ Noel Gallagher แห่งวงโอเอซิสใส่ให้เห็นอยู่บ่อยๆ ก็ล้วนเป็นแฟชั่นที่มาจากยุค 70s
ในวงการออกแบบก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่กับวงการแฟชั่น เพราะอีก 20 ถัดมา กระแสมินิมัลก็วนกลับมาใหม่ในช่วง 2010s ช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้าโควิดที่เอะอะอะไรก็มินิมัลไว้ก่อน พอหมดมินิมัลก็เป็นกระแส Mid Century ซึ่งก็คือเรทโทร คล้ายๆ กับที่เคยฮิตอยู่ช่วงหนึ่งในยุค 90s นั่นแหละ แค่เรียกต่างกันนิดหน่อยก็ฟังดูเก๋ขึ้น ส่วนแฟชั่นที่เห็นชัดๆ ก็คงจะเป็นกระแส Y2K ที่กลับมาแบบยังไงไม่รู้ ในยุค 2020s ซึ่งถ้าจากที่พูดๆ มาทั้งหมดก็ดูเหมือนว่ากฎยี่สิบปีนี้น่าจะจริง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางสไตล์หรือบางลัทธิความงามก็อยู่นอกเหนือกฎนี้ ยังไม่นับกระแสฟาสต์แฟชั่นและโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลให้วงจรแฟชั่นอาจจะมาเร็วขึ้นกว่า 20 ปี หรือมาแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่มีปี่มีขลุ่ยไปเลย ที่เป็นกระแสมาแรงล่าสุดในช่วงที่ผ่านมาไม่กี่ปีนี้คงไม่มีใครเกิน Brutalism เพราะตั้งแต่ถือกำเนิดในช่วง 50s และบูมอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเสื่อมสลายไปในยุค 70s Brutalism แทบจะไม่เคยกลับมาเป็นที่นิยมอีกเลยหลังจากนั้น จนหลายคนคิดว่าคงเป็นลัทธิที่ล้มหายตายจากและ (อาจจะ) ไม่ได้ผุดได้เกิดอีกแล้ว
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Brutalism เสื่อมความนิยมลงอาจจะเป็นเพราะกระแสแอนตี้ในยุค 70s ที่มองว่า งานคอนกรีตดิบๆ ในรูปทรงเส้นสายเรขาคณิตแข็งกระด้าง ในสเกลที่ใหญ่โตนั้น ดู “เย็นชา” และ “ไม่เป็นมิตร” แต่ถึงจะชอบไม่ชอบ จะรักจะเกลียดอย่างไรก็แล้วแต่ Brutalism คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ และนับเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของวงการออกแบบ แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความชื่นชมในลัทธิความงามแบบเฉพาะกลุ่มนี้ทำให้ Brutalism ใช้เวลาร่วมครึ่งศตวรรษในการที่จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ กระแสที่ใกล้เคียง Brutalism ที่สุดน่าจะเป็นงานของ Tadao Ando สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ที่เอาความดิบของปูนเปลือยมาใช้ในงานมินิมัลของเขา แต่ทว่าใส่จิตวิญญาณแบบเซนลงไป ทำให้งานของอันโดะเป็นความดิบที่ว่าด้วยเรื่องของสัจจะและจิตวิญญาณ ต่างจากบรูทัลลิสต์แท้ๆ ที่ดิบ เถื่อน เย็นชา และปราศจากชีวิต …แล้วเรื่องตลกร้ายของชาวบรูทัลลิสต์คือ Paul Rudolph สถาปนิกแนวบรูทัลลิสต์หัวแถว จบชีวิตลงด้วยโรค Mesothelioma หรือมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ที่ว่ากันว่ามาจากการสะสมฝุ่นปูนซีเมนต์วัสดุที่รักที่สูดเข้าปอดของตัวเอง
ผมไม่แน่ใจว่าอะไรที่เป็นปัจจัยหลักทำให้งานออกแบบสไตล์บรูทัลลิสต์กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ลามเลยไปถึงจอภาพยนตร์ที่มีหนังเรื่อง The Brutalist ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เอเดรียน โบรดี้ คว้าออสการ์ดารานำชายตัวที่สองไปครองจากบทสถาปนิกชาวยิวอพยพจากฮังการี ซึ่ง QoQoon เคยนำเสนอไปในบทความเรื่อง Design In Motion ใน Movie Issue แต่ส่วนหนึ่งที่มองว่าเป็นตัวแปรความนิยมอยู่ไม่น้อยน่าจะเป็นเรื่องของโซเชียลมีเดีย เพราะถึงจะเย็นชา ดิบเถื่อน แต่งานแบบบรูทัลลิสต์นั้น Photogenic ไม่น้อย เมื่อมีการนำภาพถ่ายสวยๆ มาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย กระแสความนิยมจึงจุดติดแบบไม่ยาก และความนิยมที่ว่านี้ก็โกลบอลมากขึ้น โลกนิยมอย่างไร ไทยก็นิยมอย่างนั้น เมื่อกระแสบรูทัลลิสต์กลับมา มีหรือที่ร้านกาแฟพินเทอเรสต์สไตล์ของพี่ไทยเราจะพลาด เราจึงเห็นคาเฟ่สไตล์บรูทัลลิสต์แท้บ้างไม่แท้บ้างเกิดขึ้นไม่น้อยในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับใครที่ชื่นชอบความงามแบบดิบๆ หรือใครที่เบื่อความเนี้ยบกริบ ติดหรูติดแกลม (หรือ ติดแกรม สำหรับเจน Z บางคน) จะลองเปิดใจให้บรูทัลลิสต์ ผมหวังว่า QoQoon ฉบับนี้น่าจะพอเป็นแรงบันดาลใจให้ได้บ้าง
Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief