Design
Design In Motions
นอกเหนือจากเรื่องราวและการแสดงที่ประทับใจ ภาพของฉากในแต่ละเฟรมบนจอมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดผู้ชมภาพยนตร์ หลายครั้งที่งานอินทีเรียและออกแบบฉากมักถูกมองข้าม ทั้งที่นับว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ผู้สร้างภาพยนตร์ใช้ในการสร้างโลกที่สื่อถึงตัวละครและเติมเต็มการเล่าเรื่องโดยปราศจากเสียง เปิดเผยเรื่องราวที่ซุกซ่อนและค่อยๆ คลี่คลายต่อหน้าเรา ด้วยการออกแบบงานสร้างที่โดดเด่นทำให้ภาพยนตร์หลายเรื่องประสบความสำเร็จ และเป็นภาพติดตาที่ติดในใจของคนดู
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นงานดีไซน์ชิ้นไอคอนิกปรากฏโฉมบนจอภาพยนตร์หลายๆเรื่อง และภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับดีไซเนอร์ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงผู้ชมอย่างเราๆ ที่นำเอาไอเดียที่น่าประทับใจจากฉากที่สวยงามบนจอมาทำให้เป็นจริงในพื้นที่ของตัวเอง
Interiors Tell All
ในภาพยนตร์เรื่อง Interiors ในปี 1978 Woody Allen ใช้อินทีเรียดีไซน์เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว บุคลิก และความรู้สึกของตัวเอกในเรื่อง ความซึมเศร้าของตัวละครถ่ายทอดออกมาสู่ผู้ชมผ่านอินทีเรียที่อึมครึม เช่นเดียวกับบรรยากาศทึมๆ ในตรอกซอกซอยเล็กๆ และห้องแคบๆ ใน In The Mood For Love ของหว่อง กาไว ในปี 2000 ที่แม้ว่าเรื่องส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในฮ่องกงแต่ใช้ฉากและโลเคชันถ่ายทำที่เยาวราชบ้านเรานี่เอง
Sofia Coppola ก็เป็นผู้กำกับอีกคนที่สื่อสารผ่านงานเซ็ตดีไซน์และอินทีเรียได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสีซีดๆ เหมือนภาพถ่ายเก่าเก็บจากยุค 70s ใน The Virgin Suicides, ฉากหงอยในโรงแรมเหงา ของ Lost in Translation หรือโลกสีลูกกวาดที่ฏิเสธความเป็นจริงของ Marie Antoinette ภาพยนตร์ที่มาจากคนเขียนบท และผู้กำกับมือดี เมื่อมาบวกกับวิชวลจากวิชั่นชั้นดี เรื่องราวจึงถูกเล่าออกมาอย่างมีชั้นเชิง
มีภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องที่มีโปรดักชั่นและเซ็ตดีไซน์ที่สวยงาม แต่ถ้าจะพูดถึงความโดดเด่นในแง่ของดีไซน์ อิทธิพลและแรงบันดาลใจที่ส่งผลต่องานออกแบบแล้ว คงต้องไปหาภาพยนต์เหล่านี้มาชมกัน
Everything Started at Metropolis
จุดเริ่มต้นทั้งหมดคงจะเป็นที่ Metropolis ของ Fritz Lang ในปี 1927 กับการออกแบบงานสร้างอลังการเกินยุคสมัยโดย Otto Hunte, Erich Kettelhut และ Karl Vollbrecht ที่จำลองภาพของโลกอนาคตแบบเอ็กเพรสชันนิสต์ออกมาเป็นภาพบนจอได้อย่างตื่นตะลึง ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีด้านภาพใดๆ มาเป็นตัวช่วย มีเพียงโมเดลสเกล 1/16 จากแผ่นไม้กระดานและงานเพ้นต์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Bauhaus, อาร์ตเดคโค และงานเอ็กเพรสชันนิสต์แบบเยอรมัน นับเป็นมาสเตอร์พีซของสถาปัตยกรรมและงานดีไซน์ และกลายเป็นเหมือนสารานุกรมอ้างอิงทั้งในโลกของการออกแบบและภาพยนตร์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะภาพยนตร์ไซไฟอย่าง Blade Runner, Star Wars หรือ The Fifth Elements
Hitchcock Classics
พูดถึง Alfred Hitchcock ก็คงนึกถึงภาพยนตร์เขย่าขวัญฟิล์มนัวร์ต่างๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในหนังของฮิตช์ค็อกก็คืองานเซ็ตดีไซน์และอินทีเรีย ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Rear Window ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงภาพยนต์เขย่าขวัญสืบสวนสอบสวนที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่ง แต่ยังเป็นตัวอย่างของงานเซ็ตดีไซน์ที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน อินทีเรียที่สะท้อนงานตกแต่งในยุค Mid-Century ในตึกอพาร์ตเม้นต์ที่เซ็ตขึ้นมากลางโรงถ่ายขนาดใหญ่ของพาราเม้าท์ หน้าต่างมากมายถ่ายทอดมุมมองของตัวละครเอกที่ชอบส่องดูชีวิตชาวบ้าน เหมือนเราๆ ที่ชอบส่องไอจีหรือเฟซบุ๊กในทุกวันนี้ อินทีเรียของแต่ละห้องในตึกฝั่งตรงข้ามบ่งบอกบุคลิกและรสนิยมของเจ้าห้อง โดยเรื่องราวลึกลับต่างๆ ค่อยๆ เปิดเผยผ่านม่านหน้าต่างแต่ละบาน สไตล์ในหนังของฮิทช์ค็อกคือคลาสสิกและ Contemporary อีกเรื่อง คือ Dial M for Murder ที่โดดเด่นด้วยฝ้าเพดานสูงโปร่งแบบอพาร์ตเมนต์ในลอนดอน
The Iconic of 2001: A Space Odyssey
ภาพยนตร์ไซไฟระดับไอคอนของ Stanley Kubrick ที่ทำนายโลกแห่งอนาคตของมนุษยชาติไว้ตั้งแต่ปี 1968 เรื่องนี้ ได้รับการยกย่องโดยดุษฎีว่าคือหนึ่งในที่สุดด้านการออกแบบงานสร้าง ไม่ใช่เพียงเพราะการที่ Kubrick และ Arthur C. Clarke ผู้เขียนบทร่วม จ้าง Frederick Ordway และ Harry Lange ที่ปรึกษาด้านยานอวกาศของนาซ่ามาช่วยออกแบบยานและกระสวยอวกาศในหนัง แต่เป็นเพราะโปรดักชั่นดีไซเนอร์ Antony Masters ต่างหากที่ทำให้ภาพฝันของโลกอวกาศในปี 2001 เป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่ทำให้ Space Odyssey โดดเด่นเหนือภาพยนตร์ไซไฟเรื่องไหนๆ คือการผสานความ Futuristic กับงานดีไซน์และอินทีเรียแบบคลาสสิกเข้าด้วยกันได้อย่างโดดเด่นและกลมกลืน James Cameron เคยกล่าวไว้ว่าการได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตอนที่เขาอายุ 14 ปี “มันคือความสุดยอด มันคือการเดินทางในโลกภาพยนตร์ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน” แม้ว่าผู้ชมจะเข้าใจเรื่องราวในหนังเรื่องนี้หรือไม่ แต่ก็ต่างปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือดีไซน์ที่สุดยอดอย่างที่คาเมรอนว่าจริงๆ บทพิสูจน์อีกอย่างคือการที่อินทีเรียและเฟอร์นิเจอร์ดีไซเนอร์อีกหลายคนได้นำไอเดียและสไตล์จาก Space Odyssey ไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงานของตัวเอง
The Whimsical World of Wes Anderson
แม้ผู้กำกับภาพยนตร์หลายคนจะมีสไตล์การทำหนังเป็นของตัวเอง แต่ด้วยเนื้อหาของเรื่องราวที่หลากหลาย ฉากและเซ็ตในภาพยนตร์ก็จะแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของท้องเรื่อง แต่มีผู้กำกับอยู่หนึ่งคนที่นอกจากจะมีสไตล์ในการทำหนังเฉพาะตัวแล้ว ยังมีงานออกแบบฉากและอินทีเรียในภาพยนตร์ที่เป็นลายเซ็นเด่นชัด นั่นคือ Wes Anderson ในแทบจะทุกเรื่องของเขาจะมีความพิศวงงงงวยของสีสัน ลวดลาย และแพตเทิร์นที่เกินจริงแต่สวยมีเสน่ห์ด้วยจังหวะและสัดส่วนที่เหมาะเจาะ ไม่ว่าจะเป็น The Darjeeling Limited, The Life Aquatic with Steve Zissou, The Royal Tennenbaums หรือ Moonrise Kingdom เรื่องที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น The Grand Budapest Hotel ที่คว้ารางวัลออlการ์สาขาออกแบบงานสร้างยอดยี่ยมในปี 2014 เขาคือขวัญใจของเจนวายที่เป็นเหมือนหัวหน้าลัทธิอะไรสักอย่าง เราจึงพบเห็นตัวอย่างของงานอินทีเรียสไตล์เวส แอนเดอร์สัน มากมายในบอร์ด Pinterest น่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลต่องานอินทีเรียดีไซน์มากที่สุดในยุคนี้
2024 in Recap and The Room Next Door
ปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีงานเซ็ตดีไซน์และอินทีเรียที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นฉากเมืองต่างดาวดีไซน์สุดล้ำใน Dune ภาค 2, โลกแฟนตาซีในเมืองของพ่อมด Oz จาก The Wicked ที่ต่างได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม หรือหนังสยองขวัญที่มีฉากหลักเป็นอพาร์ตเมนต์ในฮอลลีวู้ดของดาราสาวใหญ่ซึ่งสวมบทบาทโดย Demi Moore ใน The Substance แต่มีภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่แม้จะพลาดการเข้าชิงรางวัลนี้ไปอย่างน่าเสียดาย แต่เชื่อว่าคอดีไซน์จะต้องประทับใจในองค์ประกอบศิลป์และงานอินทีเรียที่ถูกจัดวางแบบสวยเป๊ะลงตัว ชนิดไม่มีหลุดจากกริด ทุกๆ เฟรมในหนังสามารถแคปออกมาเป็นภาพ Editorial สวยๆ ได้เลย นั่นคือ The Room Next Door ผลงานกำกับภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของ Pedro Almodóvar ผู้กำกับชาวสเปนที่โด่งดังระดับนานาชาติจากภาพยนตร์อย่าง Talk To Her และ Bad Education หนังของ Almodóvar นั้นงดงามในภาษาของหนังและภาษาภาพ The Room Next door อันว่าด้วยเรื่องของเพื่อนสาวสองคน (Tilda Swinton และ Julianne Moore) ที่กลับมาเจอกันและใช้ช่วงสุดท้ายของชีวิตในบ้านพักตากอากาศนอกเมือง โดยใช้ Casa Szoke ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นสถานที่ถ่ายทำ ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบโมเดิร์นนิสต์เส้นสายเรียบเนี้ยบกริบ ขณะที่อพาร์ตเม้นต์ส่วนตัวของทิลด้านั้นเต็มไปด้วยสีสันที่ตัดฉับกับคอสตูมดีไซน์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งถึงแม้จะพลาดการชิงออสการ์ แต่ก็กวาดรางวัลอื่นๆ มาแล้วหลายสถาบัน และยังคงเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ “งดงาม” เรื่องหนึ่งของปี
From Metropolis to The Brutalist
ในขณะที่ภาพยนตร์ที่เน้นดีไซน์จ๋าๆ อย่าง The Room Next Door มาพลาดโค้งเกือบสุดท้ายของออสการ์ The Brutalist ที่น่าจะเป็นเรื่องแรกเลยด้วยกระมังที่จับประเด็นเรื่องดีไซน์มาบอกเล่าบนจอภาพยนตร์ (ที่ไม่ใช่หนังสารคดี) นั้นไปได้สวย ตัวหนังว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของ László Tóth สถาปนิกชาวยิวอพยพจากฮังการี โดยชื่อ László Tóth ได้มาจากชื่อของนักธรณีวิทยา ส่วนผลงานดีไซน์นั้นอ้างอิงสไตล์มาจากสถาปนิกและดีไซเนอร์ระดับไอคอน Marcel Breuer (และทั้งคู่เป็นชาวฮังกาเรียน) ชีวิตของลาซโลเล่าผ่านคู่ขนานไปกับผลงานออกแบบที่แหวกแนวนิยามความงามในอุดมคติผู้คนในยุคนั้น ซึ่งตรงกับเรื่องราวจริงในประวัติศาสตร์ของวงการออกแบบที่นักออกแบบจาก Bauhaus อพยพหนีภัยสงครามกระจัดกระจายมาสร้างชื่อในอเมริกา แน่นอนว่า ความดิบ และความตรงไปตรงมาตามอย่างลัทธิ Brutalism คือแก่นของเรื่อง ซึ่งอาจจะหมายรวมไปถึง ความป่าเถื่อนของผู้คนในแวดวงสังคมชั้นสูงด้วย ซึ่งทั้งความดิบของสถาปัตยกรรมและสันดานมนุษย์ค่อยๆ เผยตัวตนออกมาให้เห็นในช่วงไคลแม็กซ์ของเรื่อง
อาจจะด้วยกระแสการออกแบบลัทธิ Brutalism ที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในแวดวงดีไซน์ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หนัง The Brutalist เป็นที่พูดถึงและกวาดรางวัลมากมายในปีนี้ ซึ่ง ทั้ง Metropolis และ The Brutalist ต่างก็นำเสนออิทธิพลของงานดีไซน์ในแบบ Bauhaus และ Brutalism จากเยอรมนี เหมือนกับการโคจรกลับมาอีกครั้งในรอบหนึ่งศตวรรษของทั้งวงการออกแบบและวงการบันเทิง
Interior Design กับภาพยนตร์ ในสายตาผู้กำกับไทย
บรรจง ปิสัญธนะกูล
Five Favourites
- The Shining – งานโปรดักชันดีไซน์ที่ยูนีคและคลาสสิกตลอดกาล ไอคอนิก และเสริมความหลอกหลอนมากๆ โดยเฉพาะฉากเด็กน้อยปั่นรถสามล้อไปตามทางเดินในโรงแรม และเขาวงกตหน้าโรงแรม
- Parasite – เรื่องนี้นอกจากอินทีเรียจะช่วยเล่าเรื่องแล้ว ยังถึงขั้นไปเล่าธีมและเมสเสจของหนังในเรื่องชนชั้น แถมตัวบ้านในหนังก็พิเศษน่าจดจำมาก ดูรอบเดียวก็จำได้เลย
- Old Boy – ชอบที่ งาน Set Design เกินจริงเล็กน้อย ทำให้ไดเร็กชั่นของหนังดูพิเศษขึ้นมาก การเลือกใช้สีม่วง ก็ทำให้หนังน่าจดจำมากขึ้น
- A Tale of Two Sisters – เลือกแต่หนังเกาหลี (ฮ่าๆ) ฉากที่ตัวละครอยู่ๆ ก็ลงไปช็อคที่พื้นสีแดงสดในเรื่องนี้ยังคงจำได้ดี เป็นฉากที่หลอกหลอนมาก การเลือกสีพื้นบ้านเป็นสีแดงสดเป็นตัวเลือกที่กล้าหาญและถูกต้องมากๆ
- Tár – อันนี้อาจไม่เกี่ยวกับภาพรวมของหนังมาก แต่ชอบอพาร์ทเมนต์ที่เบอร์ลินของนางเอกมาก ไอคอนิกสุดๆ เท่มาก
ปวีณ ภูริจิตปัญญา
เจ้าของผลงานกำกับซีรีส์ที่สร้างกระแสบน Netflix อย่าง อนาฅต ซึ่งมีผลงานสร้างชื่อมาแล้วก่อนหน้านั้นจาก บอดี้ ศพ19, สี่แพร่ง, ห้าแพร่ง และ รัก 7 ปี ดี 7 หน กล่าวกับ QoQoon ว่า “งานอินทีเรียและโปรดักชันสำคัญมากๆ ไม่แพ้องค์ประกอบอื่นเลยครับ เพราะฉากอาจจะเปรียบได้ว่า เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีความสำคัญต่อการเล่าเรื่อง เช่น ฉากๆ นั้น หรือเซ็ตนั้นๆ จะแสดงถึงที่มาที่ไป พื้นเพตัวละคร บริบททางสังคม รวมถึงความรู้สึกของตัวละครหลักได้ และยังสำคัญต่อ world building ในหนังด้วยเช่นกัน”
ส่วนผลงานใหม่ของปวีณ คือ การรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์ เรื่อง เดอะ สโตน พระแท้ คนเก๊ ซึ่งกำกับโดยเป้ อารักษ์ และกำลังจะเข้าฉายต้นเดือนเม.ย. ที่จะถึงนี้
Five Favourites
- The Grand Budapest Hotel – ดีไซน์ยูนีคมากๆ เล่นสีสันได้สนุก
- Loki – ดีไซน์โลก retro futuristic ได้ล้ำและคลาสสิค แถมยังแปลกใหม่
- The Shining – อมตะตราตรึงมากๆ แค่พื้นพรมก็ชนะเลิศแล้ว
- Poor Things – เป็นโลกที่โคตรแปลกประหลาด แต่งดงามมากๆ
- The Fifth Element – มาก่อนกาล อลังการดาวล้านดวงของจริง
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
“อินทีเรียโดยเบสิกคือจะใช้เล่าแบ็คกราวด์ตัวละครว่าเป็นคนยังไงตามเนื้อเรื่องและบทที่เขียนไว้ เช่น ลักษณะนิสัย อยู่ระดับไหนของสังคม ฯลฯ โดยที่ตัวละครไม่ต้องอธิบายออกมา เราปล่อยให้เซ็ตคุยกับคนดู ให้คนดูสังเกตเองได้เลย แต่ถ้านอกเหนือจากนั้นก็คือ บางครั้งมันช่วยเล่าอะไรที่ไม่อยู่ในแบ็กกราวด์ เช่น เล่าความความรู้สึกตัวละครผ่านห้องที่คับแคบมากๆ หรือ ความรู้สึกเดียวดายผ่านห้องที่กว้างใหญ่ว่างเปล่า อีกอย่างคือการสร้างมู้ดโทนของหนัง เช่น อยากให้หนังเหนือจริง สีสันห้องต่างๆอาจจะตกแต่งให้มันเกินจริง (โดยที่ตัวละครในเรื่องรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งปกติ)” คือความคิดเห็นเกี่ยวกับอินทีเรียและเซ็ตดีไซน์ของคุณเต๋อ ผู้กำกับ ฮาวทูทิ้ง และ Mary is happy, Mary is happy
Five Favourites
- Tony Takitani – เป็นหนังญี่ปุ่นที่เซ็ตดีไซน์มีผลต่อเรื่องมาก เพราะมันใช้เล่าความรู้สึกตัวละครที่อยู่ภายใน เช่น ห้องเก็บเสื้อผ้าของภรรยาตัวเอกที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่ทำออกมาเหมือนห้องลับเล็กๆที่อยู่ในส่วนลึกที่สุดของใจพระเอก
- Perfect Days – คนน่าจะเห็นไปเยอะแล้ว แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีคือ ตอนดูหนังเราจะสังเกตวิธีการแต่งห้องของลุงฮิรายามะที่เป็นคนทำความสะอาดห้องน้ำว่าทำไมมันดีเทลที่ไม่น่าจะเหมือนห้องของคนทำความสะอาดทั่วๆไป ซึ่งในหนังก็จะค่อยๆให้เราเห็นที่มาของอินทีเรียในห้องลุงไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเราก็เห็นวิธีคิดของลุงผ่านห้องของลุงเช่นกัน
- Parasite – ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนังที่ใช้อินทีเรียมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอย่างเข้มข้น
- Exhibition – หนังถ่ายทำในบ้านดีไซน์ไอคอนที่กำลังจะโดนทุบทิ้ง ดังนั้นหนังก็คือการบันทึกบ้านหลังนี้เอาไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ อันนี้ชอบในแง่นอกตัวหนังนิดหน่อย
- Enter the Void – หนังว่าวิญญาณที่ล่องลอยทะลุไปยังห้องหับต่างๆในโตเกียวที่สีสันร้อนแรงกลางไฟ strobe ทำให้หนังโดดเด่นและเป็นที่จดจำด้านวิชวล อีกทั้งยังทำให้เนื้อเรื่องว่าด้วยชีวิตหลังความตายนั้นมีรสที่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ
มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล
โดนัทคือนักแสดงสาวมากฝีมือแถวหน้าของบ้านเรา ซึ่งผันตัวมาทำงานกำกับ มีผลงานกำกับมาแล้วทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี และงานโฆษณา เธอบอกว่า งานอินทีเรียและเซ็ตดีไซน์ คือการสร้างบรรยากาศและโลกของหนังเรื่องนั้นๆ
Five Favourites
- The Grand Budapest Hotel – มันช่างเป็น Wes Anderson เหลือเกิน
- Marie Antoinette – มุมมองของ Sofia Coppola นั้นเป็นเอกลักษณ์ในหนังที่เธอทำทุกเรื่อง มันจะถูกมองจากมุมอื่นเสมอ Art direction ในเซ็ต งานอินทีเรีย และเสื้อผ้า มันพิเศษมาก เหมือนมาจากอนาคต แต่ก็ไม่ใช่
- Her – หนังเรื่องนี้ถ่ายในหลายเมือง แต่สามารถ continue ความเหงาได้อย่างต่อเนื่อง Her เป็นหนังอนาคตที่มีเซ็ตดีไซน์เรียบง่าย ไม่ได้ล้ำอวองการ์ด ซีนอารมณ์ก็ตัดเข้าจอดำเฉย แต่เราเชื่อมากว่าโลกใบนั้นและ Samantha มีอยู่จริง
- The Square – ดูหนังจบแล้วต้องบอกว่ามันอาร์ตเหลือเกิน บอกในเชิงประชดประชันที่ positive ส่วนอินทีเรียในหนังส่วนตัวแอบรู้สึกว่ามีหลุดบางช่วง แต่ศิลปะมันก็แบบนี้ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบมากเดี๋ยวไม่อาร์ต
- Perfect Days – เรียบง่าย แต่รื่นรมย์
- The Florida Project – หนังทุนต่ำของ Sean Baker ที่ดูแล้วอาจจะมีคนตั้งคำถามว่ามันต้องเซ็ตอะไร เพราะโลกในหนังนั้นสร้างได้เสมือนโลกแห่งความจริงมาก แต่เมื่อสังเกต เราจะเห็นว่าโลกในหนังนั้นถูกผสมสีและต่อเติมภาพตามจินตนาการที่ตัวละครแฟนตาซีว่าอยากให้โลกห่วยๆนี้มันสวยงามอย่างไร
- The Zone of Interest – ไม่เคยดูหนังสงครามที่มี Interior สวยจนเจ็บปวดขนาดนี้ โลกของหนังเล่าเรื่องบ้านในฝันของครอบครัวนายทหาร Rudolf Hoss ที่รั้วอยู่ติดกับค่ายกักกันเชลยศึก โลกในค่ายนั้นมันต่างกันแบบสวรรค์กับนรก ในหนังเราไม่ต้องเห็นภาพความรุนแรงในค่ายนั้นเลย เราเห็นแต่ความสวยงาม แต่ความสวยเหลือเกินนั้นแหละที่ทำเราเจ็บหัวใจได้
มัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย
นักแสดงสาวที่หันมาจับงานกำกับภาพยนตร์สั้นที่มีผลงานจัดแสดงในงานเทศกาลศิลปะต่างๆ รวมถึง Bangkok Biennale ปีล่าสุดที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ กล่าวว่า “อินทีเรียและเซ็ตดีไซน์สำคัญมากๆ กับตัวละครในฉาก เพราะตัวละครต้องอยู่ในพื้นที่นั้นและมีความเชื่ออย่างเต็มที่ที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นเสมือนจริง และที่สำคัญคือสื่อความหมายและอารมณ์ร่วมของคนดูในแต่ละซีนได้ด้วยค่ะ อาทิเช่น ดูแล้วรู้สึกสบายตา สบายใจ รู้สึกไปกับตัวละคร เสมือนคนดูอยู่ในนั้นด้วย”
Five Favourites
- The Danish Girl – รู้สึกเหมือนตัวเองกลับไปอยู่ในช่วงปี 1926 ที่ Copenhagen กับตัวละคร Lili Elbe/Einar Wegener และ Gerda Wegener
- Perfect Days – เซ็ตดีไซน์มีความกลับไปโลกอนาล็อกซึ่งต่างกับโลกเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน ด้วยการเล่าเรื่องของ Wim Wenders ที่มีความเรียบง่ายเป็นหลัก ทำให้เราตระหนักว่า บางทีเราก็ต้องการแค่ “ความธรรมดา” และ “ความพอดีในชีวิต”
- The Greatest Showman – มัดหมี่เป็นสายละครเวที จึงชอบการจัดฉากในโรงละคร และองค์ประกอบที่ใช้ในหนังเรื่องนี้
- Roma – หนังขาวดำที่ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมปี 2019 มัดหมี่รู้สึกว่าทุกองค์ประกอบที่ผู้กำกับจัดขึ้นมานั้นให้อารมณ์ร่วมของคนดูกับตัวละครอย่างมาก แม้จะเป็นหนังขาวดำ ช่วงที่อยู่ในบ้านตรงริมทะเลให้ความรู้สึกสั่นสะเทือนไปถึงภายใน
- Begin Again – มัดหมี่ชอบหนังรัก โรแมนติก และมีเสียงเพลง เรื่องนี้การเซ็ตฉาก องค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในห้องอัดเอย ในห้องนอนเอย หรือการอัดเพลงข้างนอกตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินและมีอารมณ์ร่วม
Story: Wachirapanee Whisky Markdee