Art & Lifestyle

The Material Of Art

จากงานศิลปะที่ถูกยกย่องคุณค่าในความงามวิจิตร มาถึงยุคแห่งความหลากหลายไร้เพดานกั้นในการแสดงออกทางศิลปะ และวัสดุสื่อกลางในการถ่ายทอดงานศิลปะก็เป็นอะไรก็ได้ จนท้าทายแนวคิดทางศิลปะกับคุณค่าแบบดั้งเดิม

เมื่อกรอบความคิดเดิมๆของการใช้วัสดุในงานศิลปะถูกทลายลง ทำให้แม้แต่โถฉี่ก็สามารถเป็นงานศิลปะได้ เหมือนอย่าง Fountain (1917) ผลงานโด่งดังของ Marcel Duchamp (มาร์เซล ดูฌองป์) ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ทำงานศิลปะออกมาท้าทายขนบและคุณค่าที่มันควรจะเป็น โดยการนำวัสดุแสนธรรมดามาใช้ หรืออย่าง Bicycle Wheel (1913) ก็เกิดขึ้นมาจากการนำล้อและตะเกียบจักรยานมาวางคว่ำบนเก้าอี้ไม้

ในประเทศไทยเองก็มีศิลปินที่นำวัสดุหรือข้าวของธรรมดาในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะอยู่ด้วย แม้จะไม่ได้มาแนวขบถเสียดสีเหมือนอย่างที่มาร์เซลเอาของสำเร็จรูปมาตั้งโชว์ดื้อ ๆ แต่ผลงานศิลปะนามธรรมของ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ที่เกิดขึ้นจากการหยิบจับนำป้ายยี่ห้อสินค้า ผ้าปูเตียง กระดาษลัง เสื่อกก แผงไข่กระดาษ ถ้วยชามพลาสติก หุ่นโชว์เก่าเหลือทิ้ง หรือแม้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวมาใช้งาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นถึงแนวทางหลากหลายของศิลปะที่เกิดมาจากวัสดุเหลือใช้ หรือถ้าจะให้เข้ากับยุคสมัยแห่งการตื่นรู้ทางความยั่งยืนของธรรมชาติแล้วละก็ Sustainable Art, Eco Art, Environmental Art, Earth Art, Recycled Art หรือไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ต่างก็เป็นศิลปะที่หยิบจับเอาขยะหลากหลายประเภท มาแปรรูปเป็นวัสดุสำหรับสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ชวนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

เมื่อแนวคิดเรื่องวัสดุทางศิลปะเปิดกว้าง ขอบเขตคำนิยามของมันก็จะยิ่งขยับขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงศิลปะได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากศิลปินที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว เราจึงอยากพาคุณไปสัมผัสกับความหลากหลายของศิลปะที่เกิดขึ้นบนวัสดุที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ผ่าน 3 นิทรรศการศิลปะนี้

Unveiling Leather: The Artistic Journey of Craftsmanship
Unveiling Leather: The Artistic Journey of Craftsmanship
“AN ORCHARD IN A BOX”
“AN ORCHARD IN A BOX”
Algorithmic Organisms
Algorithmic Organisms

Unveiling Leather: The Artistic Journey of Craftsmanship

นิทรรศการศิลปะจากวัสดุหนัง ที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันระหว่าง MOCA BANGKOK, Four Seasons Hotel Bangkok, Archives Design และ Bridge Art Agency เป็นนิทรรศการที่ชักชวนศิลปินไทยจำนวน 12 ท่าน มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นจากวัสดุหนัง ร่วมกันกับทีมช่างฝีมือจาก Archives Design เพื่อทดลองค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ให้กับวัสดุหนัง และการขยับขยายทักษะความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือที่ทำให้วัสดุชนิดก้าวเข้าสู่การใช้งานในรูปแบบใหม่ นำเสนอความงดงามของหนังผ่านการผสมผสานตัวตนทางศิลปะของ กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย, ลูกปลิว จันทร์พุดซา, ปราชญ์ นิยมค้า, รักกิจ สถาพรวจนา, สมิตา รุ่งขวัญศิริโรจน์, สมยศ หาญอนันทสุข, เต็มใจ ชลศิริ, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, Trey Hurst, อุดม อุดมศรีอนันต์, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ MAMAFAKA

Unveiling Leather: The Artistic Journey of Craftsmanship
Unveiling Leather: The Artistic Journey of Craftsmanship

Brise Soleil หรือผลงานแผงบังแสงอาทิตย์โดย Trey Hurst เป็นผลลัพธ์ที่หยิบจับเอาวัสดุหนังมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจ โดยศิลปินหนุ่มเจ้าของผลงานนั้น เคยคลุกคลีอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน ทำให้เขามีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับการใช้วัสดุหนังเป็นอย่างดี เมื่อมีโอกาสได้กลับไปทำงานร่วมกับวัสดุที่เขาคุ้นเคยแล้ว Trey Hurst จึงคิดถึงแผงบังแสงอาทิตย์ หนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่บดบังแสงอาทิตย์ และสร้างร่มเงาที่ตกกระทบสู่ภายในสถาปัตยกรรม เขาจึงเอาฝีแปรงพู่กันอันเป็นเอกลักษณ์ในภาพวาดจิตรกรรมแบบ Abstract Art ของเขา มาเติมแต่งเป็นลวดลายลงบนหนัง โดยนำเอาฝีแปรงทั้งหมด 5 แบบ มาขึ้นรูปเป็นแท่นปั้ม ก่อนจะทำการปั๊มจม (Debossing) ลงบนแผ่นหนัง เมื่อยกแท่นปั้มขึ้นแล้ว ก็จะได้แผงบังแสงอาทิตย์ ที่เต็มไปด้วยแพทเทิร์นฝีแปรงพู่กัน และยังให้ผิวสัมผัสที่แวววับล้อไปกับแสงและเงา มีชีวิตชีวิตและให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากลวดลายบนผืนผ้าใบ

Brise Soleil โดย Trey Hurst
Brise Soleil โดย Trey Hurst

ผลงานของ RUKKIT หรือ รักกิจ สถาพรวจนา ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่นำหนังมาใช้งานได้อย่างสนุกสนาน โดย RUKKIT เริ่มต้นตั้งแต่การทำความรู้จักกับวัสดุหนังใหม่ผ่านการพูดคุยกับช่างฝีมือ ว่าวัสดุหนังนั้นมีจุดเด่นและข้อจำกัดในการใช้งานอย่างไรบ้าง ก่อนจะดึงเอาเอาลักษณะเด่นบนผิวสัมผัสของหนังปกติและหนังกลับ (Suede Leather) มาเติมแต่งเข้าไปในศิลปะเรขาคณิต สไตล์ Stencil รูปวัวและเสือ ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากสุภาษิตไทยที่ว่า “เขียนเสือให้วัวกลัว” ศิลปินหนุ่มคนนี้หยิบจับเอาหนังตัดในขนาดและรูปทรงต่าง ๆ ในโทนสีต่าง ๆ มาประกอบรวมกัน พร้อมกับการใช้เทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีนและการคอลลาจมาเป็นตัวช่วยที่ทำให้ผลงานสุดท้ายมีความสมบูรณ์ และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากผิวสัมผัสที่แตกต่างกันของวัสดุต่าง ๆ

ผลงานของ RUKKIT
ผลงานของ RUKKIT

“AN ORCHARD IN A BOX”

สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดรู้ได้อย่างไรว่าต้องดำเนินชีวิตแบบใดที่จะเรียกว่าถูกต้อง นี่คือชนวนแห่งความสงสัยที่นิทรรศการนี้ได้จุดขึ้น เพื่อพาทุกคนร่วมกันย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวการตื่นรู้ ที่ผ่านการตีความใหม่ในภาษา ท่วงท่าทางศิลปะของ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล และตัวตนทางแฟชั่นของ แชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์ และ ฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ VINN PATARARIN ที่ปรากฏอยู่บนหนังเทียม และวัสดุผ้าชนิดต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยใช้ในการสร้างสรรค์ไอเท็มแฟชั่น

An Orchard In A Box
An Orchard In A Box

โดยโลกแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยภาพวาด และภาพเคลื่อนไหว คาแรคเตอร์พืชพรรณ แมลงน้อยใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์ของยูน และลวดลาย Flare หรือลายแสงกระพริบของ VINN PATARARIN ที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวของการค้นหาตัวตนของเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต ที่หลุดหล่นมาจากผลไม้ต้องห้ามไปลงโลกเบื้องล่าง ก่อนจะค่อย ๆ เติบโตบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยทางเลือกหลากหลายแบบ ดั่งเช่นลวดลายที่ปรากฏอยู่บน Vase Cover ผลงานศิลปะและของแต่งบ้านที่ทำจากวัสดุหนังพียู ที่แขวนเรียงรายอยู่บนผนังของห้องในโซนหนึ่งของนิทรรศการ ซึ่งบน Vase Cover เหล่านั้นจะเต็มไปด้วยลวดลายของเด็กน้อย อันเป็นตัวแทนของจิตไร้สำนึกที่กำลังค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการเติบโต ซึ่งถูกพิมพ์ลงบนหนังเทียม ก่อนจะ Laser cut ให้กลายเป็นลวดลาย Flare

Vase Cover
Vase Cover

ส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของนิทรรศการครั้งนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเสื้อผ้าแฟชั่นทั้ง 5 ลุค ที่จัดแสดงอยู่ในห้องโถงกลาง ผลงานในส่วนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่าการสั่นไหว อิสระ และการเติบโต ลวดลายที่ถูกเลือกมาพิมพ์ลงบนวัสดุผ้าม่านจึงเป็นผีเสื้อ ที่ถอดมาจากแนวคิด Butterfly effect คือการที่ผีเสื้อขยับปีกสั่นไหวอย่างอิสระ แต่กลับส่งผลกระเพื่อมอันยุ่งเหยิงจนก่อเกิดการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในขณะที่ดีไซน์ของเสื้อผ้าแฟชั่นทั้ง 5 ลุคนั้น เป็นการทดลองนำเอาศิลปะของยูนมาใช้สร้างเป็นลวดลายใหม่ให้กับเสื้อผ้าของ VINN PATARARIN ไม่ว่าจะเป็น เสื้อวินด์เบรเกอร์และกางเกงจั้มปลายดีไซน์ Laser Cut ที่เต็มไปด้วย Arm Patch ของยูน หรือ Strawberry Dress ที่เป็นการทดลองใช้วัสดุในซิลลูเอ็ตต์ใหม่ที่แบรนด์ไม่เคยทำ

ดีไซน์ของเสื้อผ้าแฟชั่น ไฮไลท์ของนิทรรศการครั้งนี้
ดีไซน์ของเสื้อผ้าแฟชั่น ไฮไลท์ของนิทรรศการครั้งนี้
Strawberry Dress
Strawberry Dress

และห้องที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือห้องสุดท้ายที่ทั้งยูนและ VINN PATARARIN ร่วมกันตั้งคำถามถึงนิยามของความงดงามว่าแท้จริงแล้วเป็นแบบไหน มีรูปแบบที่ตายตัวหรือไม่ และมันถูกเปลี่ยนแปลงชั่วพริบตาได้ทันทีเลยหรือเปล่า ผ่านการจัดแสดง Live Art Performance ที่มีการหยดสีต่าง ๆ ลงมาจากงานแขวนด้านบน ที่ค่อย ๆ หยดลงสู่ผลงานในทรงกลมที่พิมพ์ลวดลายของยูนลงบนวัสดุผ้า Felt อย่างอิสระ การปะปนของสีที่เกิดขึ้นอย่างไร้กฎเกณฑ์สะท้อนถึง Free Will หรือเจตจำนงเสรี ผลลัพธ์ของการหยดสีจะปรากฏเป็นลวดลายบนผ้าให้เห็นได้ตลอดเวลา ซึ่งหากช่วงขณะหนึ่งมันบังเอิญไปตรงกับความงดงามของใครเข้า ก็สามารถสั่งให้หยุดการหยดสีและซื้อผลงานชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยในทันที เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่เล่นกับสิ่งนามธรรมอย่างคำว่า ‘อิสระ’ และ ‘ช่วงเวลา’ ได้อย่างน่าสนใจ

Live Art Performance
Live Art Performance

Algorithmic Organisms

นิทรรศการ Digital Art จากการร่วมมือกันระหว่าง XUMIIRO และ MOCA Bangkok โดยศิลปิน Ray Tijssen หรือ 0010 x 0010 (รหัสไบนารี่จากวันเกิดของเขา 2/2 ) ศิลปินชาวดัตซ์ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะตัวพ่อแห่งการผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่และยุคนี้ ด้วยผลงาน Digital Art กลิ่นอาย Futuristic ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากการใช้เทคโนโลยี 3D Art และเทคโนโลยีการสร้างภาพขึ้นมาจากข้อมูลอัลกอริทึมด้วย AI ที่แม้ในปัจจุบันเราอาจจะยังอยู่ท่ามกลางถกเถียงที่ไร้ข้อสรุปแน่ชัดว่าศิลปะที่เกิดขึ้นมาจาก AI นั้น แท้จริงแล้วนับว่าเป็นศิลปะหรือไม่ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะกำลังจะเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งแล้ว และนิทรรศการของ Ray Tijssen ก็เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ชั้นดีว่า เทคโนโลยีล้ำสมัยช่วยเข้ามาเติมเต็มช่องว่างให้กับศิลปะได้อย่างไรบ้าง

นิทรรศการ Digital Art จากการร่วมมือกันระหว่าง XUMIIRO และ MOCA Bangkok โดยศิลปิน Ray Tijssen หรือ 0010 x 0010
นิทรรศการ Digital Art จากการร่วมมือกันระหว่าง XUMIIRO และ MOCA Bangkok โดยศิลปิน Ray Tijssen หรือ 0010 x 0010

นอกจากความเฉลียวฉลาดที่สามารถแปลงหน่วยข้อมูลที่ซับซ้อนให้กลายเป็น Visual Art ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องด้านร่างกายสิ่งมีชีวิตในยุคอนาคตตามความหมายของชื่อนิทรรศการ ผ่านมุมมองของตัว AI เองได้แล้ว ความสนใจของนิทรรศการดิจิทัลอาร์ตในครั้งนี้ก็คือ เทคโนโลยีอุปกรณ์จอภาพจากผู้สนับสนุนอย่าง Samsumg ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ทำให้ Visual Art ของ 0010 x 0010 สามารถเคลื่อนไหวแบบ Dynamic ได้ลื่นไหลตามความตั้งใจของศิลปิน และยังทำให้นิยามของเฟรมศิลปะในแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปในทันที จากเดิมที่เคยเป็นเพียงกรอบภาพนิ่งบนวัสดุอย่างกระดาษหรือผืนผ้าใบ ที่ให้ความรู้สึกเสมือนมีชีวิต แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านมาเป็นจัดแสดงอยู่บนเทคโนโลยีจอภาพล้ำยุคที่ผลิตขึ้นจากวัสดุสังเคราะห์โดยมนุษย์แล้ว กลับกลายเป็นงานศิลปะ Live Performance ที่กำลังเคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตอยู่จริง จนทำลายขีดจำกัดเดิมและผลักดันให้เกิดรูปแบบความเป็นไปได้ใหม่ๆให้กับการสร้างงานศิลปะ ที่ส่งเสริมให้จินตนการของศิลปินก้าวข้ามเส้นแบ่งสู่โลกแห่งความจริงได้ง่ายดายกว่าเดิม

อีกหนึ่งรูปแบบศิลปะที่ 0010 x 0010 ได้สอดแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการครั้งนี้โดยที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้ตัว นั่นก็คือ Audio Art อีกหนึ่งแขนงของศิลปะที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา ก่อนที่จะหันเหความสนใจมาสู่ Visual Art และ Digital Art โดยศิลปินใช้ซินธิไซเซอร์สังเคราะห์เสียงจากชุดคำสั่งข้อมูล เพื่อให้มันคอยสร้างเสียงดนตรีประกอบขึ้นมาสดๆ ตลอดการรับชม เติมเต็มประสบการณ์การมองเห็นให้กับการรับชมศิลปะในครั้งนี้ กลายเป็นประสบการณ์แบบ Immersive ที่คุณจะตื่นตา ตื่นเต้น ไปกับความอาวองต์-การ์ด (Avant-Garde) ของ Algorithmic Organisms ได้อย่างเต็มรูปแบบ

Story: M.SIZI
Photos: Swita Uancharoenkul

Share