Art & Lifestyle
The Material Of Art
จากงานศิลปะที่ถูกยกย่องคุณค่าในความงามวิจิตร มาถึงยุคแห่งความหลากหลายไร้เพดานกั้นในการแสดงออกทางศิลปะ และวัสดุสื่อกลางในการถ่ายทอดงานศิลปะก็เป็นอะไรก็ได้ จนท้าทายแนวคิดทางศิลปะกับคุณค่าแบบดั้งเดิม
เมื่อกรอบความคิดเดิมๆของการใช้วัสดุในงานศิลปะถูกทลายลง ทำให้แม้แต่โถฉี่ก็สามารถเป็นงานศิลปะได้ เหมือนอย่าง Fountain (1917) ผลงานโด่งดังของ Marcel Duchamp (มาร์เซล ดูฌองป์) ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ทำงานศิลปะออกมาท้าทายขนบและคุณค่าที่มันควรจะเป็น โดยการนำวัสดุแสนธรรมดามาใช้ หรืออย่าง Bicycle Wheel (1913) ก็เกิดขึ้นมาจากการนำล้อและตะเกียบจักรยานมาวางคว่ำบนเก้าอี้ไม้
ในประเทศไทยเองก็มีศิลปินที่นำวัสดุหรือข้าวของธรรมดาในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะอยู่ด้วย แม้จะไม่ได้มาแนวขบถเสียดสีเหมือนอย่างที่มาร์เซลเอาของสำเร็จรูปมาตั้งโชว์ดื้อ ๆ แต่ผลงานศิลปะนามธรรมของ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ที่เกิดขึ้นจากการหยิบจับนำป้ายยี่ห้อสินค้า ผ้าปูเตียง กระดาษลัง เสื่อกก แผงไข่กระดาษ ถ้วยชามพลาสติก หุ่นโชว์เก่าเหลือทิ้ง หรือแม้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวมาใช้งาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นถึงแนวทางหลากหลายของศิลปะที่เกิดมาจากวัสดุเหลือใช้ หรือถ้าจะให้เข้ากับยุคสมัยแห่งการตื่นรู้ทางความยั่งยืนของธรรมชาติแล้วละก็ Sustainable Art, Eco Art, Environmental Art, Earth Art, Recycled Art หรือไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ต่างก็เป็นศิลปะที่หยิบจับเอาขยะหลากหลายประเภท มาแปรรูปเป็นวัสดุสำหรับสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ชวนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อแนวคิดเรื่องวัสดุทางศิลปะเปิดกว้าง ขอบเขตคำนิยามของมันก็จะยิ่งขยับขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงศิลปะได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากศิลปินที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว เราจึงอยากพาคุณไปสัมผัสกับความหลากหลายของศิลปะที่เกิดขึ้นบนวัสดุที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ผ่าน 3 นิทรรศการศิลปะนี้
Unveiling Leather: The Artistic Journey of Craftsmanship
นิทรรศการศิลปะจากวัสดุหนัง ที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันระหว่าง MOCA BANGKOK, Four Seasons Hotel Bangkok, Archives Design และ Bridge Art Agency เป็นนิทรรศการที่ชักชวนศิลปินไทยจำนวน 12 ท่าน มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นจากวัสดุหนัง ร่วมกันกับทีมช่างฝีมือจาก Archives Design เพื่อทดลองค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ให้กับวัสดุหนัง และการขยับขยายทักษะความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือที่ทำให้วัสดุชนิดก้าวเข้าสู่การใช้งานในรูปแบบใหม่ นำเสนอความงดงามของหนังผ่านการผสมผสานตัวตนทางศิลปะของ กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย, ลูกปลิว จันทร์พุดซา, ปราชญ์ นิยมค้า, รักกิจ สถาพรวจนา, สมิตา รุ่งขวัญศิริโรจน์, สมยศ หาญอนันทสุข, เต็มใจ ชลศิริ, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, Trey Hurst, อุดม อุดมศรีอนันต์, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ MAMAFAKA
Brise Soleil หรือผลงานแผงบังแสงอาทิตย์โดย Trey Hurst เป็นผลลัพธ์ที่หยิบจับเอาวัสดุหนังมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจ โดยศิลปินหนุ่มเจ้าของผลงานนั้น เคยคลุกคลีอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน ทำให้เขามีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับการใช้วัสดุหนังเป็นอย่างดี เมื่อมีโอกาสได้กลับไปทำงานร่วมกับวัสดุที่เขาคุ้นเคยแล้ว Trey Hurst จึงคิดถึงแผงบังแสงอาทิตย์ หนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่บดบังแสงอาทิตย์ และสร้างร่มเงาที่ตกกระทบสู่ภายในสถาปัตยกรรม เขาจึงเอาฝีแปรงพู่กันอันเป็นเอกลักษณ์ในภาพวาดจิตรกรรมแบบ Abstract Art ของเขา มาเติมแต่งเป็นลวดลายลงบนหนัง โดยนำเอาฝีแปรงทั้งหมด 5 แบบ มาขึ้นรูปเป็นแท่นปั้ม ก่อนจะทำการปั๊มจม (Debossing) ลงบนแผ่นหนัง เมื่อยกแท่นปั้มขึ้นแล้ว ก็จะได้แผงบังแสงอาทิตย์ ที่เต็มไปด้วยแพทเทิร์นฝีแปรงพู่กัน และยังให้ผิวสัมผัสที่แวววับล้อไปกับแสงและเงา มีชีวิตชีวิตและให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากลวดลายบนผืนผ้าใบ
ผลงานของ RUKKIT หรือ รักกิจ สถาพรวจนา ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่นำหนังมาใช้งานได้อย่างสนุกสนาน โดย RUKKIT เริ่มต้นตั้งแต่การทำความรู้จักกับวัสดุหนังใหม่ผ่านการพูดคุยกับช่างฝีมือ ว่าวัสดุหนังนั้นมีจุดเด่นและข้อจำกัดในการใช้งานอย่างไรบ้าง ก่อนจะดึงเอาเอาลักษณะเด่นบนผิวสัมผัสของหนังปกติและหนังกลับ (Suede Leather) มาเติมแต่งเข้าไปในศิลปะเรขาคณิต สไตล์ Stencil รูปวัวและเสือ ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากสุภาษิตไทยที่ว่า “เขียนเสือให้วัวกลัว” ศิลปินหนุ่มคนนี้หยิบจับเอาหนังตัดในขนาดและรูปทรงต่าง ๆ ในโทนสีต่าง ๆ มาประกอบรวมกัน พร้อมกับการใช้เทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีนและการคอลลาจมาเป็นตัวช่วยที่ทำให้ผลงานสุดท้ายมีความสมบูรณ์ และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากผิวสัมผัสที่แตกต่างกันของวัสดุต่าง ๆ
“AN ORCHARD IN A BOX”
สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดรู้ได้อย่างไรว่าต้องดำเนินชีวิตแบบใดที่จะเรียกว่าถูกต้อง นี่คือชนวนแห่งความสงสัยที่นิทรรศการนี้ได้จุดขึ้น เพื่อพาทุกคนร่วมกันย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวการตื่นรู้ ที่ผ่านการตีความใหม่ในภาษา ท่วงท่าทางศิลปะของ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล และตัวตนทางแฟชั่นของ แชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์ และ ฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ VINN PATARARIN ที่ปรากฏอยู่บนหนังเทียม และวัสดุผ้าชนิดต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยใช้ในการสร้างสรรค์ไอเท็มแฟชั่น
โดยโลกแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยภาพวาด และภาพเคลื่อนไหว คาแรคเตอร์พืชพรรณ แมลงน้อยใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์ของยูน และลวดลาย Flare หรือลายแสงกระพริบของ VINN PATARARIN ที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวของการค้นหาตัวตนของเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต ที่หลุดหล่นมาจากผลไม้ต้องห้ามไปลงโลกเบื้องล่าง ก่อนจะค่อย ๆ เติบโตบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยทางเลือกหลากหลายแบบ ดั่งเช่นลวดลายที่ปรากฏอยู่บน Vase Cover ผลงานศิลปะและของแต่งบ้านที่ทำจากวัสดุหนังพียู ที่แขวนเรียงรายอยู่บนผนังของห้องในโซนหนึ่งของนิทรรศการ ซึ่งบน Vase Cover เหล่านั้นจะเต็มไปด้วยลวดลายของเด็กน้อย อันเป็นตัวแทนของจิตไร้สำนึกที่กำลังค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการเติบโต ซึ่งถูกพิมพ์ลงบนหนังเทียม ก่อนจะ Laser cut ให้กลายเป็นลวดลาย Flare
ส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของนิทรรศการครั้งนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเสื้อผ้าแฟชั่นทั้ง 5 ลุค ที่จัดแสดงอยู่ในห้องโถงกลาง ผลงานในส่วนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่าการสั่นไหว อิสระ และการเติบโต ลวดลายที่ถูกเลือกมาพิมพ์ลงบนวัสดุผ้าม่านจึงเป็นผีเสื้อ ที่ถอดมาจากแนวคิด Butterfly effect คือการที่ผีเสื้อขยับปีกสั่นไหวอย่างอิสระ แต่กลับส่งผลกระเพื่อมอันยุ่งเหยิงจนก่อเกิดการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในขณะที่ดีไซน์ของเสื้อผ้าแฟชั่นทั้ง 5 ลุคนั้น เป็นการทดลองนำเอาศิลปะของยูนมาใช้สร้างเป็นลวดลายใหม่ให้กับเสื้อผ้าของ VINN PATARARIN ไม่ว่าจะเป็น เสื้อวินด์เบรเกอร์และกางเกงจั้มปลายดีไซน์ Laser Cut ที่เต็มไปด้วย Arm Patch ของยูน หรือ Strawberry Dress ที่เป็นการทดลองใช้วัสดุในซิลลูเอ็ตต์ใหม่ที่แบรนด์ไม่เคยทำ
และห้องที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือห้องสุดท้ายที่ทั้งยูนและ VINN PATARARIN ร่วมกันตั้งคำถามถึงนิยามของความงดงามว่าแท้จริงแล้วเป็นแบบไหน มีรูปแบบที่ตายตัวหรือไม่ และมันถูกเปลี่ยนแปลงชั่วพริบตาได้ทันทีเลยหรือเปล่า ผ่านการจัดแสดง Live Art Performance ที่มีการหยดสีต่าง ๆ ลงมาจากงานแขวนด้านบน ที่ค่อย ๆ หยดลงสู่ผลงานในทรงกลมที่พิมพ์ลวดลายของยูนลงบนวัสดุผ้า Felt อย่างอิสระ การปะปนของสีที่เกิดขึ้นอย่างไร้กฎเกณฑ์สะท้อนถึง Free Will หรือเจตจำนงเสรี ผลลัพธ์ของการหยดสีจะปรากฏเป็นลวดลายบนผ้าให้เห็นได้ตลอดเวลา ซึ่งหากช่วงขณะหนึ่งมันบังเอิญไปตรงกับความงดงามของใครเข้า ก็สามารถสั่งให้หยุดการหยดสีและซื้อผลงานชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยในทันที เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่เล่นกับสิ่งนามธรรมอย่างคำว่า ‘อิสระ’ และ ‘ช่วงเวลา’ ได้อย่างน่าสนใจ
Algorithmic Organisms
นิทรรศการ Digital Art จากการร่วมมือกันระหว่าง XUMIIRO และ MOCA Bangkok โดยศิลปิน Ray Tijssen หรือ 0010 x 0010 (รหัสไบนารี่จากวันเกิดของเขา 2/2 ) ศิลปินชาวดัตซ์ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะตัวพ่อแห่งการผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่และยุคนี้ ด้วยผลงาน Digital Art กลิ่นอาย Futuristic ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากการใช้เทคโนโลยี 3D Art และเทคโนโลยีการสร้างภาพขึ้นมาจากข้อมูลอัลกอริทึมด้วย AI ที่แม้ในปัจจุบันเราอาจจะยังอยู่ท่ามกลางถกเถียงที่ไร้ข้อสรุปแน่ชัดว่าศิลปะที่เกิดขึ้นมาจาก AI นั้น แท้จริงแล้วนับว่าเป็นศิลปะหรือไม่ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะกำลังจะเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งแล้ว และนิทรรศการของ Ray Tijssen ก็เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ชั้นดีว่า เทคโนโลยีล้ำสมัยช่วยเข้ามาเติมเต็มช่องว่างให้กับศิลปะได้อย่างไรบ้าง
นอกจากความเฉลียวฉลาดที่สามารถแปลงหน่วยข้อมูลที่ซับซ้อนให้กลายเป็น Visual Art ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องด้านร่างกายสิ่งมีชีวิตในยุคอนาคตตามความหมายของชื่อนิทรรศการ ผ่านมุมมองของตัว AI เองได้แล้ว ความสนใจของนิทรรศการดิจิทัลอาร์ตในครั้งนี้ก็คือ เทคโนโลยีอุปกรณ์จอภาพจากผู้สนับสนุนอย่าง Samsumg ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ทำให้ Visual Art ของ 0010 x 0010 สามารถเคลื่อนไหวแบบ Dynamic ได้ลื่นไหลตามความตั้งใจของศิลปิน และยังทำให้นิยามของเฟรมศิลปะในแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปในทันที จากเดิมที่เคยเป็นเพียงกรอบภาพนิ่งบนวัสดุอย่างกระดาษหรือผืนผ้าใบ ที่ให้ความรู้สึกเสมือนมีชีวิต แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านมาเป็นจัดแสดงอยู่บนเทคโนโลยีจอภาพล้ำยุคที่ผลิตขึ้นจากวัสดุสังเคราะห์โดยมนุษย์แล้ว กลับกลายเป็นงานศิลปะ Live Performance ที่กำลังเคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตอยู่จริง จนทำลายขีดจำกัดเดิมและผลักดันให้เกิดรูปแบบความเป็นไปได้ใหม่ๆให้กับการสร้างงานศิลปะ ที่ส่งเสริมให้จินตนการของศิลปินก้าวข้ามเส้นแบ่งสู่โลกแห่งความจริงได้ง่ายดายกว่าเดิม
อีกหนึ่งรูปแบบศิลปะที่ 0010 x 0010 ได้สอดแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการครั้งนี้โดยที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้ตัว นั่นก็คือ Audio Art อีกหนึ่งแขนงของศิลปะที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา ก่อนที่จะหันเหความสนใจมาสู่ Visual Art และ Digital Art โดยศิลปินใช้ซินธิไซเซอร์สังเคราะห์เสียงจากชุดคำสั่งข้อมูล เพื่อให้มันคอยสร้างเสียงดนตรีประกอบขึ้นมาสดๆ ตลอดการรับชม เติมเต็มประสบการณ์การมองเห็นให้กับการรับชมศิลปะในครั้งนี้ กลายเป็นประสบการณ์แบบ Immersive ที่คุณจะตื่นตา ตื่นเต้น ไปกับความอาวองต์-การ์ด (Avant-Garde) ของ Algorithmic Organisms ได้อย่างเต็มรูปแบบ
Story: M.SIZI
Photos: Swita Uancharoenkul