Style
REVISION:
Inspiration From The Iconic Designs
ศิลปะและการออกแบบมีอิทธิพลกับชีวิตของมนุษย์เรามานานนับศตวรรษ ศิลปะจุดประกายเร้าอารมณ์และท้าทายมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในขณะที่การออกแบบสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกของเราด้วยความสวยงามและฟังก์ชั่น แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพลังทั้งสองนี้มาบรรจบกันด้วยแรงบันดาลใจแห่งชิ้นงานออกแบบมาสเตอร์พีซระดับไอคอนในประวัติศาสตร์การออกแบบ
QoQoon เชิญชวนศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทย 10 ท่าน มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานออกแบบระดับไอคอน ด้วยเทคนิคและสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน ใส่ไอเดียสร้างสรรค์ ทวิสต์ออกมาเป็นผลงานศิลปะในแบบฉบับของตัวเอง จากรูปลักษณ์ที่คุ้นตาสู่บทสนทนาใหม่ ด้วยพลังแห่งศิลปะและการออกแบบ และเพื่อเป็นการสดุดีให้กับนักออกแบบผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับไอคอนิกของโลก
เราต้อง “เชื่อใจ” กันแค่ไหน ถึงจะยอมเอาตัวเป็นเป้านิ่งให้กับ “กระสุนปืน” ที่ส่งจากมือคู่รักของเราได้
ผลงานภาพวาดชายหนุ่มที่มีกาน้ำวางอยู่บนหัว ส่งสายตาท้าทายผู้คน ลายเส้นดินสอที่ละเอียดและเฉียบคมถ่ายทอดมุมมองและฟังก์ชั่นใหม่ของกาน้ำ La Conica จาก Alessi ผลงานออกแบบโดย Aldo Rossi ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะตัว ให้เป็นดังหมวกปาร์ตี้ ให้ความรู้สึกสนุก และในขณะเดียวกันก็ชวนสงสัยในทีถึงเรื่องราวในภาพ หากลองสังเกตให้ดี ที่ตัวกามีรูกระสุนเจาะอยู่ และพื้นที่เล็กๆ นี้เองกลับพาเรื่องราวให้ลึกซึ้งไปถึงรูปธรรมแห่งความไว้ใจ ซึ่งศิลปินได้เลือกเอาคู่รัก “Bonnie & Clyde” มาเป็นตัวเล่าเรื่อง เพื่อสื่อถึงคู่รักที่ไว้ใจกันจนวันตาย โดยเลือกให้หญิงสาวเป็นผู้ยิงกระสุนนัดสำคัญในจินตนาการครั้งนี้
Classic by Day, Icon by Night
Technique : Graphite Pencil Drawing and Digital Painting Techniques
เมื่อเก้าอี้ตัวโปรดของโลก กลายมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการคิดสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ศิลปินจึงตอกย้ำความงามสง่าเหนือกาลเวลานั้นด้วยเทคนิคสองผสาน เชื่อมวันวานและวันใหม่ไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังจับใจความแห่งความต่างที่สำคัญมาเข้าคู่กันได้อย่างเหมาะเจาะ ลงตัว
มิติความงามใหม่ของเฟอร์นิเจอร์ที่เคยคุ้น อย่างเก้าอี้ Eames Lounge Chair and Ottoman ของ Herman Miller ผลงานออกแบบของ Charles Eames ปรากฏอยู่ในผลงานภาพวาดที่พิชฐญาณ์ เลือกมาตีความด้วยความรู้สึกผูกพันกับเฟอร์นิเจอร์สุดคลาสสิกเป็นเบื้องต้น ถัดมาคือ ความเอกอุในการผสานหลากองค์ประกอบแห่งความต่างไว้อย่างลงตัว ทั้งวัสดุ รูปทรง สีสัน สัมผัส ฯลฯ จนเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินในการผนวกทั้งสไตล์ดั้งเดิมกับความร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้เทคนิคดรอว์อิ้งมือแบบเก่า การสเก็ตช์ด้วยดินสอ ร่วมกับ Digital Printing รวมถึงเทคนิค Lenticular Printing ที่ไม่เพียงทำให้ผู้ชมงานเชื่อมโยงกับงานได้ดี หากยังขับเน้นทุกเส้นสายแห่งความทรงจำให้กลับสดใหม่ และยิ่งสวยเด่นในทุกมิติ
เมื่อได้เห็นเส้นขนานที่สวยงามบนเก้าอี้ที่ออกแบบโดยสถาปนิกระดับตำนาน ซึ่งโอ ธีรวัฒน์ ได้ยินชื่อและเห็นผลงานมายาวนาน ผนวกกับทักษะประจำตัวของศิลปินที่จัดการความวุ่นวายซับซ้อนได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของผลงานภาพดิจิตัลที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์หลักของชิ้นงานต้นแบบเอาไว้ และต่อขยายมุมมองสู่โครงสร้างใหม่ ที่มากด้วยเส้นสายสวยงาม สะกดทุกสายตา
จากต้นทางเก้าอี้ Coonley รูปทรงเรียบเท่ โดย Frank Lloyd Wright ที่เด่นด้วยพนักพิงหลัง สร้างสัมผัสทางสายตาจากไม้เรียงเส้นสวย ประจวบเหมาะกับความสนใจในงานสานของผู้เป็นศิลปิน นำไปสู่การยืด โยง โครงเส้น โดยยังยึดโยงกับดีไซน์ดั้งเดิมของงานต้นแบบไว้ และเชื่อมขนานกันไปมา จนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ที่หนักแน่น น่าสนใจ อีกทั้งผลงานศิลปะชิ้นใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเส้นตรง-เส้นตัดนี้ ยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลง แตกต่าง หลากหลายได้ไม่สิ้นสุดตาม “จินตนาการ”
เมื่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือมิติที่ 4 ในนาม Nostalgia Surfer ออกเดินทางไปในจินตนาการกับผลงานเก้าอี้ที่ไม่เพียงดูแปลกตา แต่ยังเป็นยานพาหนะข้ามกาลเวลา ซึ่งหล่อหลอมจากมุมคิดและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ แล้วรังสรรค์ขึ้นด้วยมุมมองแห่งศิลปะ
“เมทัลลิก” ที่เห็นเมื่อไรมักให้ความรู้สึกถึงความล้ำสมัยอยู่เสมอ ทว่า ในผลงานของ มงคล ศรีธนาวิโรจน์ ที่เลือกเก้าอี้ Little Heavy Chair ซึ่งออกแบบโดย Ron Arad มาเป็นต้นแบบครั้งนี้ กลับต่างออกไป ด้วยความรู้สึก Nostalgia ของศิลปินที่มีต่อศิลปะวัฒนธรรมรวมถึงการออกแบบในช่วงปลายยุค 80s-90s เป็นหัวเชื้อ เก้าอี้เมทัลลิกจึงสวมบทเป็นดังเครื่องย้อนเวลา ให้ศิลปินได้สำรวจค้นคว้าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชอบจากวัยเยาว์ เพื่อหาวิธีเข้าใกล้การย้อนเวลา มาใช้เป็นฐานคิด ต่อยอดจินตนาการงานศิลปะแนวซิตี้ป็อป กับภาพเก้าอี้สุดล้ำในมิติเวลาที่ไม่อาจจำกัดความ พร้อมกับการปรากฏตัวของคาแรคเตอร์ Nostalgia Surfer ผ่านเงาบางๆ ที่ซ่อนอยู่ในชิ้นงาน พร้อมจะพาทุกคนย้อนไปในอดีต และท่องไปในอนาคตด้วยกัน
รูปธรรมแห่งความสุขเบ่งบานได้เสมอในชีวิต คือแนวคิดในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ซึ่งศิลปินต้องการแบ่งปันทั้งมุมมองในเรื่องที่ปฏิบัติได้ใกล้ตัว ผสานด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดอันเป็นที่มาของเก้าอี้รูปทรงดอกลิลลี่ที่เป็นเอกลักษณ์
จาก “ดอกไม้” ผลงานธรรมชาติรังสรรค์ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยงดงาม เปี่ยมสีสัน ที่สร้างความสุขให้กับผู้พบเห็น สู่การตีความ Getsuen หรือเก้าอี้ดอกลิลลี่ ผลงานของนักออกแบบชาวญี่ปุ่น Masanori Umeda ที่ทำให้กับ Edra โดยใช้หลักปรัชญาญี่ปุ่นในการผสานผสานธรรมชาติให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับ ภาสินี คงเดชะกุล ผู้รู้สึกมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับดอกไม้ ทั้งยังชื่นชอบการวาดภาพดอกไม้ หรือสื่อสารด้วยผลงานศิลปะหลากหลายเทคนิคและรูปแบบอยู่เสมอ โดยจินตนาการของภาสินีในครั้งล่าสุด สำหรับ QoQoon นี้ ยังตั้งใจถ่ายทอดมุมมองการใช้ชีวิต ผ่านภาพวาดอะคริลิคสีสันสดใส ที่บอกเล่าสู่ผู้คนในการทำให้เศษเสี้ยวของเวลาในแต่ละวันให้เป็นความสุขในแบบของตน
สนุกยิ่งกว่าความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ คือการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองในครั้งนี้ ศิลปินพาตัวเองไปเรียนรู้ ทดลอง และลงมือทำ ภายใต้ผลลัพธ์น่ารักที่ใครเห็นเป็นต้องยิ้ม แต่กลับอัดแน่นไว้ด้วยมุมคิด ตัวตน ไปจนถึงจิตวิญญาณในหลายบทบาทหน้าที่สุดเข้มข้น
แค่แรกสัมผัส พบเห็น เป็นใครก็ไม่อาจละสายตาจากเก้าอี้ UP Armchair and Ottoman ซึ่งออกแบบโดย Gaetano Pesce นี้ได้ เพราะส่งพลังแรงในทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ลวดลาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปทรงกลมๆ ที่ทำให้นึกถึงรูปร่างของผู้หญิง ซึ่งเข้ากับคาแรคเตอร์กลมๆ ที่จิรายุวาดเป็นประจำในผลงานของเธอเอง ความโค้งเว้าที่จูนเข้าหากันนี่เองที่เป็นต้นทางในการสำรวจไอเดียแปลกใหม่ ทั้งในกระบวนการคิดและขั้นตอนการสร้างสรรค์ เทคนิคที่ผสานงานดิจิตัลและแมนวลเข้าด้วยกัน รวมไปจนถึงการต่อยอดรูปแบบการนำเสนอที่ชวนลูกสาว มาร่วมถ่ายทอดความหมายในประเด็นหนักๆ เบื้องหลังของทั้งชิ้นงานเก้าอี้ต้นแบบและผลงานชุดเดรสเพ้นท์สีอะคริลิคของจิรายุเอง สิทธิ, บทบาท, หน้าที่ของผู้หญิง ที่ขึ้นชื่อว่าแม่ และภารกิจแห่งรักที่ไม่มีวันสิ้นสุด
Natural Resonance
Technique : Giclée printing on Awagami Bamboo paper
เสี้ยว “จังหวะจับสายตา” ที่ศิลปะเชื่อมโยงกับธรรมชาติในแจกันใบงาม กับเส้นสายกิ่งก้านของดอกไม้ ความสัมพันธ์แห่งรูปทรงและแสงเงา ได้รับการจรดรายละเอียดไว้บนระนาบของงานภาพพิมพ์ ซึ่งทำหน้าที่บันทึกห้วงขณะแห่งธรรมชาติ “จับใจ” ที่ต่อยอดด้วยจินตนาการของศิลปินไว้โดยสมบูรณ์
ด้วยปรัชญาในการทำงาน ซึ่งมี “ธรรมชาติ” เป็นจุดเชื่อมโยงตั้งต้นระหว่าง 2 ศิลปิน ผสานด้วยเอกลักษณ์ในการนำเสนอผลงาน โดยบอกเล่าเนื้อแท้แห่งวัสดุ หรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารอย่างเรียบง่ายของณัฐพงศ์ ดาววิจิตร จากการสำรวจและสังเกตชิ้นงานต้นแบบ Savoy Vase แจกันแก้วฟรีฟอร์มอันเป็นที่จดจำไปทั่วโลก ผลงานของ Alvar Aalto ที่มอบสัมผัสทางสายตาอันลื่นไหล ทั้งแข็งแกร่งและอ่อนช้อยในเวลาเดียวกัน สู่กระบวนการตีความและสร้างสรรค์งานศิลปะที่ถ่ายทอดมุมมองละเมียดงามเมื่อปักดอกไม้ลงในแจกัน ความวูบไหวของกิ่งก้านดอกใบ อีกทั้งระดับน้ำที่ขับเน้นโดยแสงเงาซึ่งส่องทะลุผ่าน เคลื่อนตัวไปไม่ซ้ำกันแม้สักครั้ง และยังสะท้อนสัจธรรมของกาลเวลาที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนผ่านไปไม่เคยสิ้นสุด
จากแรงดึงดูดกับรูปทรงของผลงานต้นแบบ รูปร่างที่ดูขี้เล่น เส้นสายที่ลื่นไหล เป็นที่มาของงานสร้างสรรค์ใหม่ ที่ชวนให้ผู้พบเห็นรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี เช่นเดียวกับความรู้สึกนึกคิดของศิลปินที่อยากเชิญพักชวนผ่อน ให้ทุกคนได้สนุกคิดกับชีวิตไปด้วยกัน
จากความที่เคยทำงานด้านคอมิกส์มาก่อน เมื่อได้เห็นเก้าอี้ Nesting Chair ของ Vitra โดย Frank Gehry ทำให้ศิลปินนึกถึงท่าทางของผู้คนในโยคะอาสนะต่างๆ รูปร่างรูปทรงที่ตรึงสายตาอยู่กับที่ แต่ความคิดถูกขับเคลื่อนไปพร้อมจินตนาการ ที่ผสานด้วยเอกลักษณ์ในผลงานของตุลยาที่ลดทอนให้ดูเรียบ แต่ไม่หยุดเล่น และมีเรื่องราวที่อยากสื่อสารซ่อนอยู่ จนเกิดเป็นเรื่องราวเล็กๆในความสัมพันธ์ของเก้าอี้ Nesting Chair และคนที่ฟอร์มตัวเองขึ้นมาคล้ายเก้าอี้ แล้วฟอร์มกลับลงไปที่พื้นอีกครั้ง ถ้าใครมองภาพแล้วเกิดอยากขยับ เท่ากับว่า เรื่องราวในภาพ อาจเป็นเวลาพักของคุณก็ได้เช่นกันนะ!
Symbiosis
Technique : watercolor and acrylic on paper
เมื่อการตีความผลงานไอคอนิกสุดล้ำ เชื่อมโยง “ธรรมชาติและมนุษย์” สององค์ประกอบที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเข้าด้วยกัน ในผลงานภาพวาดสีน้ำและอะคริลิคสุดละเมียด ที่ไม่เพียงเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่มอบสุนทรียะแก่ผู้พบเห็น หากยังเน้นย้ำความหวังของการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในโลกใบเดียวกันของทุกชีวิต ที่จะนำมาซึ่งความรื่นรมย์และน่าอยู่กว่าที่เคย
ปรากฏการณ์ทางสายตาที่แปลก แตกต่าง ทว่ากลมกลืนเข้ากันอย่างประหลาด ระหว่างเก้าอี้โลหะ Lockheed Lounge ชิ้นผลงานต้นแบบซึ่งออกแบบโดย Marc Newson และบรรดาสิงสาราสัตว์ ซึ่งอรรถกฤษณ์ วรรณสอน ได้ขยายกรอบความคิดท้าทาย ผ่านมุมมองใหม่ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของธรรมชาติและเทคโนโลยี ด้วยภาพวาดสีน้ำสไตล์ดั้งเดิม ที่มีความละเอียดสูง ดูมีชีวิตชีวา โดยใช้รูปทรงที่โค้งมนของเก้าอี้ เชื่อมโยงลักษณะเข้ากับท่าทางของสัตว์ ท่ามกลางบริบทที่ห่างไกลจากสัมผัสรับรู้ที่คุ้นเคย
จากการฉีกกระดาษในคืนตาค้างช่วงแรกรัก เมื่อรู้ตัวอีกที กลับกลายเป็นเทคนิคที่ศิลปินหลงใหล และเลือกเป็นวัสดุหลักซึ่งใช้เล่าเรื่องในผลงานที่ทำให้เจ้าตัวได้ตื่นขึ้นมาหายใจบนความจริง ไม่ผูกตัวเองไว้กับอดีต ไม่มองที่อนาคตมากจนเกินไป และที่สุด คือการเป็นอิสระอีกครั้ง
ผลงานคอลลาจที่ขับเคลื่อนจากเรื่องราวเบื้องหลังเส้นสายที่เรียบง่าย ทว่าเฉียบคม ของเก้าอี้ Zig Zag Chair โดย Gerrit Thomas Rietveld มีหลายจุดเชื่อมโยงระหว่างศิลปินเจ้าของผลงานต้นทางและปัณพัท ไม่ว่าจะเป็นระบบสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในผลงานของทั้งคู่ อีกทั้งอารมณ์ขันอันเป็นที่มาของเก้าอี้ และคำเตือนเกี่ยวกับความรักที่ติดตลกแต่จริงจังระหว่างปัณพัทและเพื่อน จากการสำรวจเรียนรู้ชิ้นงานต้นแบบนั้น เป็นเหตุให้ปัณพัทกลับได้เรียนรู้ภายในตัวตน จนเกิดสารตั้งต้นเป็นความเข้าใจในห้วงเวลาแห่งรัก และถ่ายทอดผ่านมุมมองทางศิลปะที่ผู้เป็นศิลปินเชื่อว่า สามารถบอกเล่าหลากมิติแห่งความรู้สึกได้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าภาษาใดๆในโลกนี้
Curated by QoQoon