INSPO
DIY
Thai Mobile Magic
แรงบันดาลใจจากเครื่องแขวนโบราณของไทย สู่ผลงานที่ผสมผสานกับยุคสมัยปัจจุบัน นำมาตีความใหม่ด้วยการร้อยเรียงลูกปัดกระดาษแทนดอกไม้สด เพิ่มความสร้างสรรค์ให้งานศิลป์ แต่ยังคงไว้ซึ่งความประณีตบรรจงตามแบบฉบับไทย พร้อมผสานรูปทรงเรขาคณิต เกิดเป็นงานกราฟิกที่เรียบง่ายแต่โดดเด่น ‘กลิ่นตะแคง, บันไดแก้ว, กลิ่นจระเข้ และตาข่ายหน้าช้าง’ คือลวดลายจากเครื่องแขวนไทยที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานชุดนี้ จาก Oh My Craft Studio ที่ลดทอนรายละเอียดให้นำไปทำตามกันได้ง่ายๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์และกลิ่นอายที่เป็นเสน่ห์แบบไทยๆ
ลูกปัดกระดาษ
การสร้างสรรค์ลูกปัดกระดาษเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ เราจึงเลือกใช้สิ่งนี้เป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเปรียบลูกปัดเหล่านี้เสมือนดอกไม้ที่ถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างลวดลายและชิ้นงานที่โดดเด่นสวยงาม
- ลูกปัดปลายแหลม 8 ซม. (A) : ตัดกระดาษขนาด 30 x 8 ซม. จากนั้นวัดกึ่งกลางด้านกว้างที่ 4 ซม. แล้วตัดเฉียงไปยังมุมซ้ายและขวาให้เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ใช้แท่งลวดหรือไม้เสียบลูกชิ้น ม้วนจากด้านกว้าง (8 ซม.) ให้เป็นทรงคล้ายตัวหนอนไหม ทากาวและปิดปลายให้แน่น
- ลูกปัดปลายแหลม 8 ซม. (B) : ทำตามขั้นตอนของลูกปัด 8 ซม. (A) ตัดกระดาษเพิ่ม ขนาด 30 x 1 ซม. ทากาวติดกระดาษเส้นเล็กตรงกึ่งกลางลูกปัด แล้วม้วนทับจนสุด ทากาวปิดปลาย เป็นการเพิ่มลวดลายให้ลูกปัด
- ลูกปัดปลายแหลม 5 ซม. : ตัดกระดาษขนาด 30 x 5 ซม. จากนั้นวัดกึ่งกลางที่ 2.5 ซม. แล้วตัดเฉียงไปยังมุมซ้ายและขวาให้เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ใช้แท่งลวดหรือไม้เสียบลูกชิ้น ม้วนจากด้านกว้าง (5 ซม.) ให้เป็นทรงคล้ายตัวหนอนไหม ทากาวและปิดปลายให้แน่น
- ลูกปัดปลายแหลม 2 ซม. : ตัดกระดาษขนาด 30 x 2 ซม. จากนั้นวัดกึ่งกลางที่ 1 ซม. แล้วตัดเฉียงไปยังมุมซ้ายและขวาให้เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ใช้แท่งลวดหรือไม้เสียบลูกชิ้น ม้วนจากด้านกว้าง (2 ซม.) ให้เป็นทรงคล้ายตัวหนอนไหม ทากาวและปิดปลายให้แน่น
- ลูกปัดทรงกำยาน : ตัดกระดาษขนาด 30 x 2.5 ซม. ตัดเฉียงจาก มุมขวาบนลงมาที่มุมซ้ายล่าง ให้ได้เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมที่มีด้านหนึ่งตรง ใช้แท่งลวดหรือไม้เสียบลูกชิ้น ม้วนจากด้านกว้าง (2.5 ซม.) ให้เป็นทรงคล้ายกำยาน ทากาวและปิดปลายให้แน่น
- ลูกปัดกลม : ตัดกระดาษเป็นวงกลมขนาด 2.5 ซม. จำนวน 10 ชิ้น ทำการพับครึ่งทุกชิ้นและติดกาวซ้อนกัน เมื่อกาวแห้ง นำมาประกบกันเป็นทรงกลม แล้วติดกาวให้แน่น สำหรับลูกปัดขนาดเล็กลง ใช้กระดาษวงกลมขนาด 1 ซม.
ตาข่ายหน้าช้าง
ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแขวนไทย ‘ตาข่ายหน้าช้าง’ ซึ่งมีรูปร่างแบน และการร้อยเรียงที่เรียบง่าย ลักษณะคล้ายตาข่ายที่ใช้คลุมหน้าผากช้างในวันสำคัญและพิธีการต่างๆ เพิ่มรายละเอียดด้วยอุบะลูกปัดทรงกลม เพื่อเสริมความน่าสนใจให้กับชิ้นงาน
- ร้อยลูกปัดขนาด 5 ซม. จำนวน 1 ชิ้น และลูกปัดขนาด 8 ซม. (A) จำนวน 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน จากนั้นผูกให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ทำชิ้นงานลักษณะเดียวกันทั้งหมด 6 ชิ้น
- วางชิ้นงานที่ทำไว้ตามลำดับ ดังนี้ แถวบน 3 ชิ้น แถวกลาง 2 ชิ้น แถวล่าง 1 ชิ้น เมื่อจัดเรียงแล้วจะมีลักษณะคล้ายรูปธงราวสามเหลี่ยม
- ใช้เส้นด้ายผูกเชื่อมมุมที่ติดกันของแต่ละชิ้นงาน เพื่อให้ทุกมุมเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนา
- ใช้ลวดสีขาวเสียบเข้ารูของลูกปัดในแถวบนและแถวกลาง เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง
- ร้อยลูกปัดตามลำดับต่อไปนี้เพื่อทำเส้นอุบะ ใช้ลูกปัดกลม (เล็ก) 1 ลูก และลูกปัดขนาด 2 ซม. 3 ลูก จากนั้นนำเส้นอุบะที่ได้ไปตกแต่งบริเวณด้านข้างของชิ้นงาน สำหรับตกแต่งบริเวณมุมล่าง เพิ่มลูกปัดกลมขนาดใหญ่สลับกับขนาดเล็ก และเพิ่มเส้นอุบะอีก 3-5 เส้น เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับชิ้นงาน
กลิ่นจระเข้
ผลงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแขวนไทย ‘กลิ่นจระเข้’ ซึ่งมีโครงสร้างเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด 3 ส่วนเรียงต่อกัน ครั้งนี้เราดัดแปลงให้ง่ายขึ้น โดยใช้เพียงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดส่วนเดียว มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเล็กๆ ที่เหมาะสำหรับเป็นของขวัญหรือของที่ระลึก
- ร้อยลูกปัดขนาด 5 ซม. จำนวน 3 ชิ้นเข้าด้วยกัน แล้วผูกให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ทำชิ้นงานลักษณะเดียวกันทั้งหมด 4 ชิ้น
- วางชิ้นงานที่ทำไว้โดยเรียงเป็น 3 แถว ดังนี้ แถวบน 1 ชิ้น แถวกลาง 2 ชิ้น แถวล่าง 1 ชิ้น เมื่อจัดเรียงแล้วจะมีลักษณะคล้ายรูปลูกศรชี้ขึ้น
- สร้างชิ้นงานสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โดยการร้อยลูกปัดขนาด 5 ซม. เพิ่มเติมที่ด้านซ้าย, ขวา และมุมล่าง ผูกเชื่อมลูกปัดเข้าด้วยกันทุกมุมเพื่อให้ได้รูปร่างที่สมบูรณ์
- ร้อยลูกปัดตามลำดับต่อไปนี้เพื่อทำเส้นอุบะ โดยเริ่มจากลูกปัดกลมขนาดใหญ่ 1 ลูก ลูกปัดขนาด 8 ซม. (B) 1 ลูก และลูกปัดขนาด 2 ซม. 1 ลูก จากนั้นนำเส้นอุบะที่ได้ไปติดบริเวณด้านล่างของชิ้นงาน เพื่อเพิ่มความสวยงาม
บันไดแก้ว
แรงบันดาลใจจากเครื่องแขวนไทย “บันไดแก้ว” นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปแบบใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการทดลองทำ การเรียนรู้รูปทรงสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจากชิ้นงานก่อนหน้านี้ ช่วยให้เกิดการผสมผสานและต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์อีกรูปแบบหนึ่ง
- ร้อยลูกปัดขนาด 5 ซม. จำนวน 1 ชิ้น และลูกปัดขนาด 8 ซม. (A) จำนวน 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน จากนั้นผูกให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ทำชิ้นงานลักษณะเดียวกันทั้งหมด 2 ชิ้น
- นำทั้งสองชิ้นมาวางเรียงต่อกันเป็นแถวหน้ากระดาน จากนั้นวางลูกปัดขนาด 5 ซม. อีก 2 ชิ้นที่ด้านล่างซ้าย-ขวา เพื่อให้เกิดเป็นรูปธงราวสามเหลี่ยม และทำการผูกเชื่อมแต่ละมุมเข้าด้วยกันทั้งหมด
- เสียบลวดบริเวณลูกปัดแถวบนเพื่อเสริมความแข็งแรง และตกแต่งมุมซ้าย-ขวาด้วยลูกปัดกลม(เล็ก)
- ทำชิ้นงานลักษณะนี้อีกหนึ่งชุด (รวมเป็น 2 ชิ้นงาน)
- นำทั้งสองชิ้นงานมาวางต่อกันในแนวตั้ง จากนั้นใช้เส้นด้ายผูกเชื่อมให้แน่น
- ร้อยลูกปัดขนาด 5 ซม. จำนวน 1 ชิ้น และลูกปัดขนาด 8 ซม. (A) จำนวน 1 ชิ้นเข้าด้วยกัน ทำทั้งหมด 2 เส้น จากนั้นนำเส้นที่ได้ไปติดที่ตำแหน่งซ้าย-ขวาของชิ้นงาน วางลูกปัดขนาด 5 ซม. อีก 1 ชิ้นไว้ตรงกลาง เพื่อให้ดูคล้ายหลังคาหน้าจั่ว จากนั้นผูกมัดทุกจุดให้แน่น
- ร้อยลูกปัดกลมขนาดใหญ่, ลูกปัดกลมขนาดเล็ก และลูกปัดขนาด 2 ซม. เข้าด้วยกันเป็นเส้นอุบะ ออกแบบความยาวและรูปแบบได้ตามต้องการ (ประมาณ 3-5 เส้น) นำเส้นอุบะไปติดบริเวณมุมซ้าย ,ขวา และด้านล่างของชิ้นงาน เพื่อให้ดูสมบูรณ์
กลิ่นตะแคง
เครื่องแขวนไทย “กลิ่นตะแคง” มีลักษณะเป็นตาข่ายคล้ายใยแมงมุม มักใช้แขวนตามช่องหน้าต่างและบานประตู มีความเชื่อว่าเครื่องแขวนนี้ช่วยกรองสิ่งไม่ดีและดักจับโชคดี คล้ายกับ Dreamcatcher ของฝรั่ง มาเรียนรู้วิธีขึ้นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสามารถทดลองสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน
- นำลูกปัดขนาด 8 ซม. (A) จำนวน 1 ชิ้น และ 8 ซม. (B) จำนวน 2 ชิ้น มาร้อยต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วผูกให้แน่น ทำซ้ำขั้นตอนนี้เพื่อให้ได้ทั้งหมด 3 ชิ้น
- นำทั้ง 3 ชิ้นมาวางต่อกัน โดยให้มุมของแต่ละชิ้นชนกันที่จุดศูนย์กลาง และจัดตำแหน่งให้ลูกปัดขนาด 8 ซม. (B) เป็นเส้นรัศมี จากนั้นผูกเชื่อมเข้าด้วยกันให้แน่น
- วางลูกปัดขนาด 8 ซม. (A) อีก 3 ชิ้นโดยรอบ เพื่อสร้างรูปหกเหลี่ยม แล้วผูกเชื่อมทุกจุดให้แน่นหนา
- เสียบลวดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางทั้งสามเส้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้โครงสร้าง
- ร้อยลูกปัดกลม (ใหญ่), ลูกปัดกลม (เล็ก) และลูกปัดขนาด 2 ซม. ต่อกันเป็นเส้นอุบะ ออกแบบลวดลายและความยาวตามต้องการ (ประมาณ 3-5 เส้น) จากนั้นนำไปตกแต่งบริเวณจุดแขวนด้านบน มุมซ้าย-ขวา และด้านล่างเพื่อให้ชิ้นงานสมบูรณ์
กลิ่นตะแคง 2
ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแขวนไทย “กลิ่นตะแคง” เช่นเดียวกันกับก่อนหน้านี้ แต่ถูกออกแบบให้มีรายละเอียดที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยการนำลูกปัดหลากหลายรูปแบบที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานที่โดดเด่นและน่าสนใจ
- นำลูกปัดขนาด 5 ซม. จำนวน 6 ชิ้นมาร้อยต่อกันแล้วผูกให้แน่น จากนั้นจัดวางตำแหน่งให้เป็นรูปสามเหลี่ยมทรงคว่ำ
- วางลูกปัดขนาด 8 ซม. (B) ในแนวตั้งเพื่อสร้างเส้นรัศมี และผูกเชื่อมให้แน่น ทำซ้ำขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อให้ได้ทั้งหมด 3 ชิ้น
- นำทั้ง 3 ชิ้นมาวางต่อกัน โดยให้มุมของแต่ละชิ้นชนกันที่จุดศูนย์กลาง จัดตำแหน่งให้ลูกปัดขนาด 8 ซม. (B) เป็นเส้นรัศมี แล้วผูกเชื่อมเข้าด้วยกันให้แน่น
- เสียบลวดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางทั้งสามเส้นเพื่อเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง
- ตกแต่งเพิ่มเติมโดยการเสียบลูกปัดทรงกำยานที่ปลายลวด โดยให้ปลายแหลมอยู่ด้านใน จากนั้นเสียบลูกปัดกลม (เล็ก) ต่อกันจนครบทุกเส้น
- ร้อยลูกปัดขนาด 5 ซม. จำนวน 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน แล้ววางโดยรอบเพื่อสร้างรูปหกเหลี่ยม จากนั้นวางลูกปัดขนาด 8 ซม. (B) ตามแนวเส้นรัศมี แล้วผูกเชื่อมทุกจุดให้แน่น
- ตัดลวดส่วนเกินออกจากทุกจุด
- ร้อยลูกปัดกลม (ใหญ่), ลูกปัดกลม (เล็ก) และลูกปัดขนาด 2 ซม. ต่อกันเป็นเส้นอุบะ ออกแบบลวดลายและกำหนดความยาวตามต้องการ (ประมาณ 3-5 เส้น) นำเส้นอุบะไปตกแต่งที่มุมซ้าย-ขวา และด้านล่าง เพื่อให้ชิ้นงานสมบูรณ์
เครื่องแขวนโบราณของไทย
สุดท้าย หากทุกคนอยากทดลองสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนความเป็นตัวเองและมีเอกลักษณ์ อาจลองหยิบชิ้นงานที่ได้เรียนรู้มาผสมผสานเข้าด้วยกัน หรือปรับสัดส่วนและขนาดของบางชิ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์และพัฒนาไอเดียร่วมกับงานฝีมืออื่นๆ เช่น งานดอกไม้กระดาษ ก็จะช่วยทำให้เกิดผลงานที่หลากหลาย และได้สนุกกับการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์แบบที่คุณเองก็อาจไม่เคยคิดมาก่อน
Paper Works and Photos : OH My craft Studio
สามารถเข้าไปชมไอเดียงานประดิษฐ์งานคราฟท์ต่างๆของ OH My craft ต่างๆเพิ่มเติมได้ที่
https://www.instagram.com/ohmycraft.studio
https://www.facebook.com/OHMycraft.studio/
https://www.youtube.com/c/OHMycraftStudio