Sustainably Yours

Editor's Letter

Sustainably Yours

เป็นเรื่องบังเอิญในความโชคร้ายหรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะในขณะที่กำลังจะเขียนบทบรรณาธิการของ QoQoon ฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง Sustainability อยู่นี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่น้ำเหนือไหลบ่าลงมาพอดี

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเสียหายทางด้านทรัพย์สินที่คงทราบกันดีอยู่แล้ว สำหรับชาวกรุงเทพฯ อย่างเราที่มวลน้ำยังเดินทางมาไม่ถึง หรือถ้าโชคดีไอ้เจ้ามวลน้ำมันเกิดอ่อนแรงลงไประหว่างทาง ก็อาจจะนึกไม่ออกว่าความเสียหายทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัยนั้นมากมายขนาดไหน แต่ถ้าใครที่เคยเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด ก็อาจจะยังพอจำความรู้สึกนั้นกันได้ ผมยังจำภาพตอนที่ไปเป็นอาสาสมัครผัดข้าว แจกอาหาร แพคถุงยังชีพ และขนดิน หิน ทราย สร้างทำนบกั้นน้ำได้ดี คิดว่าเราๆ คงไม่อยากให้ภาพนั้นวนกลับมาฉายซ้ำในหัวอีกรอบกันหรอก แต่ข่าวน้ำท่วมรอบนี้มีภาพหนึ่งที่เห็นแล้วกระแทกใจจนสะอึกอย่างแรง คือภาพร่างของฝูงสัตว์ที่นอนจมโคลนสีน้ำตาลข้นคลั่กเกลื่อนกลาดหลังน้ำลดในบางพื้นที่ ซึ่งในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองแล้ว ขอสารภาพว่าเราอาจจะนึกถึงแต่ชีวิตคน ทรัพย์สิน บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่การเกษตร แต่ไม่เคยนึกถึงสัตว์เลี้ยงที่หนีน้ำไม่ทัน และบรรดาสัตว์ป่าที่ถูกกลืนหายไปกับสายน้ำที่พัดผ่านป่าที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อาศัยของคน

เหตุการณ์นี้มากระตุกต่อมกระตุ้นเตือนความทรงจำให้ย้อนนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth เมื่อปี 2006 หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ความจริงช็อคโลก” ซึ่งส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบชื่อภาษาไทยนี้สักเท่าไหร่ ผมยังชอบชื่อภาษาอังกฤษที่ให้ความรู้สึกที่แสนอึดอัดกระอักกระอ่วนใจมากกว่า แต่โอเค ข้ามเรื่องชื่อนี้ไป An Inconvenient Truth เป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่และบอกเล่าเรื่องราวของภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีผลกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าถึงทุกวันนี้ ประชากรบนโลกส่วนใหญ่คงพอจะทราบและมีความรู้เรื่องนี้กันพอสมควรแล้ว แต่ในตอนนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างอิมแพคไปทั่วโลก ก่อให้เกิดกระแสและกระตุ้นเตือนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเครดิตทั้งหมดต้องยกให้กับ Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์ และผลพวงก็ทำให้อัล กอร์ กลายเป็นหนึ่งในบุคคลแห่งปีของนิตยสาร Time และได้รับรางวัลโนเบล รวมไปถึงตัวหนังเองที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2007

จะว่าไป อัล กอร์ เป็นหนึ่งในนักการเมืองไม่กี่คนที่ให้ความสำคัญและออกมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะอัลอยู่ในกลุ่มนักการเมืองของพรรคเดโมแครตที่เน้นเรื่องการชูประเด็นสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในการหาเสียงเรียกคะแนนนิยม และอัลได้เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ตอนที่เขาเพิ่งเข้าไปเป็นสมาชิกสภาล่างใหม่ๆ แต่น่าเสียดายที่อัลพ่ายแพ้ต่อ George W. Bush ในการโหวตเลือกตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในระดับรัฐ ทั้งที่คะแนนโหวตของอัล กอร์ มากกว่าบุชเสียอีก แต่ด้วยตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็ทำให้อัลมีเวทีในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กระจายออกสู่สังคมมากขึ้น และทำมันเรื่อยมา แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปหลายปี และหลายคนอาจจะลืมเลือน An Inconvenient Truth ไปแล้วก็ตาม อัลเคยให้สัมถาษณ์กับ CBS Morning ในปี 2022 ว่า “เราไม่ใช่ตำรวจสิ่งแวดล้อม เราเป็นแค่เพื่อนบ้านที่คอยเฝ้าระวังโลก” (We’re not the climate cops, maybe neighbourhood watch for the world.)

เราคงไม่ต้องลงดีเทลกันไปถึงวิธีแก้ปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนว่าต้องทำอย่างไรบ้างกันในนี้ เพราะทุกวันนี้คนรุ่นใหม่แทบทุกคนมีความรู้พื้นฐานเรื่องพวกนี้กันพอสมควร มีทฤษฎีมากมายที่ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อัล กอร์ ได้ทิ้งคำถามสำคัญไว้ให้กับเราว่า เราจะแก้ปัญหานี้ได้ทันเวลาหรือไม่? กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าข้อสันนิษฐานและคำพยากรณ์บางอย่างใน An Incovenient Truth และทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภัยพิบัติของมวลมนุษยชาตินั้นคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า หากเรายังคงบริโภคทรัพยากรแบบเดิมๆ วันนั้นก็คงจะมาถึงเข้าสักวัน ก็ขอพูดแบบเฉิ่มๆอีกทีว่าถ้าเราไม่เริ่มที่ตัวเราเอง การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของคนทั้งโลกก็คงไม่มีวันสำเร็จ ทฤษฎีเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ทำได้ไม่ยากและเห็นผลในระยะยาว

Sustainability หรือ ความยั่งยืน เป็นเป้าหมายระยะยาวของสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ความยั่งยืนที่ว่านี้มากกว่าการรักษาธรรมชาติและระบบนิเวศที่เปราะบาง แต่มันเกี่ยวกับการสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาของทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ทุกส่วนของสังคมทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืนเพื่อให้แน่ใจว่าคนรุ่นต่อไปจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

มีหลายวิธีที่เราสามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบ Sustainable ได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค บางวิธีอาจจะสุดโต่งหรือเป็นไปได้ยากสำหรับคนที่ชื่นชอบแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์สวยๆ (อุตสาหกรรม Fast Fashion ทำลายสิ่งแวดล้อมได้พอๆ กับที่ Fast Food ทำลายสุขภาพของเรา) แต่ก็มีวิธีง่ายๆที่เราจะช่วยเซฟโลกอย่างมีสไตล์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Upcycling หมุนวนเอาของกลับมาใช้ใหม่ ปรับเปลี่ยนชีวิตให้ง่ายขึ้น มินิมัลดูจะเป็นสไตล์ที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นนอกจากของสวยถูกใจแล้ว การใส่ใจอ่านข้อมูลหรือศึกษาที่มาของผลิตภัณฑ์ที่จะใช้สักนิดก็ถือว่ามีส่วนช่วยยืดอายุของโลกโทรมๆใบนี้ได้ และมีสินค้ามากมายในปัจจุบันที่ผู้ผลิตและนักออกแบบใช้แนวทาง Sustainable Design หรือการออกแบบอย่างยั่งยืนมาใช้ในการออกแบบและผลิตสินค้า และเป็นเรื่องน่ายินดีว่าแบรนด์ไทยและนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ไม่น้อย

QoQoon ฉบับนี้จึงรวบรวมเรื่องราวและงานดีไซน์บางส่วนที่ตอบโจทย์ในเรื่องของ Sustainable living มานำเสนอเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและทางเลือกให้กับทุกคน ลองคลิกเข้าไปดูกันเลย

Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief

Share