
Editor's Letter
Oriental Express
มีคนบอกว่า QoQoon “ฝรั่งจัง” อืม…ก็อาจจะจริง ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นเพราะว่าเราโฟกัสที่งานดีไซน์เป็นหลัก และปฏิเสธไม่ได้ว่างานดีไซน์ยุคใหม่นั้นมีที่มาจากโลกตะวันตกของฝรั่ง ผลงานดีไซน์ระดับไอคอนก็มักจะเป็นของฝรั่งมังค่า ถ้าจะมีชนชาติไหนในเอเชียที่พอจะเทียมหน้าเทียมตาฝั่งตะวันตกได้ในเรื่องของดีไซน์ ก็เห็นจะมีแต่ญี่ปุ่นชาติเดียวที่สู้ได้แบบไม่อาย ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเอเชียชาติอื่นรวมถึงคนไทยเองไม่เก่ง แต่ด้วยความที่พื้นฐานของโมเดิร์นดีไซน์มันเกิดที่ตะวันตก ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่องค์ความรู้และนวัตกรรมของฝั่งโน้นจะนำหน้าฝั่งนี้อยู่หน่อย
ยิ่งช่วงปลายปีที่แล้วและต้นปีนี้เป็นฤดูกาลของงานเทศกาลออกแบบทั่วโลก ยิ่งเห็นได้ชัดว่าการที่งานดีไซน์จากฝั่งตะวันออกจะเบียดขึ้นไปอยู่แถวหน้านั้นไม่ง่ายเลย จริงอยู่ที่เรามีดีไซเนอร์เก่งๆ ไอเดียเจ๋งๆ มากมาย แต่เหมือนมีข้อจำกัดอะไรบางอย่างที่ทำให้หลายไอเดียอาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน ล่าสุดก็คืองาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา กับความพยายามของหลายฝ่ายที่จะผลักดันงานออกแบบให้เทียมหน้าเทียมตานานาชาติ แต่ว่ากันตามเนื้อผ้า คงต้องเรียนตามตรงว่าหนทางนี้ยังอีกยาวไกล และคงใช้เวลาอีกยาวนาน แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรา (วงการออกแบบไทย) ยังได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน รวมถึงไฟในการสร้างสรรค์ผลงานของคนรุ่นใหม่ที่ร้อนแรง หวังว่าหนทางที่ยาวไกลนี้จะไม่ไกลจนเกินไป และเวลาที่ยาวนาน จะไม่นานจนเราไม่ทันได้เห็นความสำเร็จนั้นในช่วงชีวิตนี้
ความที่เทคโนโลยีเอย อะไรเอย เรายังตามหลังโลกตะวันตกอยู่ สิ่งที่จะชูขึ้นมาเรียกร้องความสนใจจากอีกฝั่งได้ก็คงจะเป็นเรื่องของงานฝีมือและวัฒนธรรมรุ่มรวยแบบโลกตะวันออกที่แฝงมากับงานดีไซน์ที่เน้นความประณีตของงานช่างฝีมือเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งฝั่งเราก็ทำได้ดีเสียด้วย งานออกแบบและตกแต่งจากโลกตะวันออกที่มัดใจคนส่วนใหญ่ได้จึงมักจะออกมาในรูปของงานคราฟต์แบบเอเชียจ๋ากันไปเลย ยิ่งถ้าเป็นในตลาดแมสสำหรับคนทั่วไปซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องของดีไซน์ในเชิงลึกมากนัก งานศิลปะโบราณ งานแอนทีค และงานฝีมือพื้นบ้านจึงเป็นที่นิยมมากกว่าในฐานะของแต่งบ้านที่มาในรูปแบบของงานสะสมหรือของที่ระลึกเพื่อสร้างความเอ็กโซติกแปลกตาให้กับบ้านมากกว่าในฐานะของชิ้นงานดีไซน์ที่โดดเด่น สินค้าตามงานถนนคนเดินหรือริมถนนพัฒน์พงษ์จึงขายดีกว่าสินค้าจากงานดีไซน์วีค …แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์งานดีไซน์รูปแบบใหม่ที่ยังให้กลิ่นอายของอารยธรรมตะวันออก ใส่ความเป็นเอกลักษณ์แบบไม่ยัดเยียด “ซอฟต์พาวเวอร์” ลงไปในทุกสิ่งอย่าง ไม่ต้องยกลายกนกกกก้านมาทั้งแผง ไม่ต้องใส่ชฎา ไม่ต้องเอาหนุมานมาเป็นมาสค็อต ไม่ต้องมีช่อฟ้า ใบระกา ประดับหลังคาพาวิลเลียนในงานเอ็กซ์โป
ช่วงปีที่ผ่านมามีหนึ่งเทรนด์มาแรงซึ่งน่าจะสอดคล้องกับไอเดียของการผสมผสานงานออกแบบระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยสีทองหรือหงส์เหนือมังกรมาช่วยใดๆ หลังจากเทรนด์แต่งบ้านแบบ Mid-Century กลับมาอาละวาดอยู่พักใหญ่ๆ ก็ได้กลายพันธ์ุไปเป็นเทรนด์ใหม่ชื่อ “เจแปนดิ” หรือ Japandi Style ที่ไม่ได้หมายความว่าให้แต่งบ้านแบบ “ญี่ปุ่นดิแก” แต่เป็นสไตล์ที่เป็นส่วนผสมระหว่างสแกนดิเนเวียนและญี่ปุ่น ซึ่งอันที่จริงความงามแบบเอเชียนี้ไม่ใช่ของใหม่ในโลกตะวันตก เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 มีการนำลวดลายแบบญี่ปุ่นไปใช้ในงานตกแต่งในฝั่งยุโรป ในโลกของแฟชั่นก็มีเสื้อผ้าคล้ายกิโมโนออกมา ฝั่งโลกบันเทิง Anna May Wong ดาราสาวเชื้อสายจีนก็นำความงามแบบเอ็กโซติกของเธอไปอวดโฉมบนจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในฮอลลีวูด แต่นั่นก็ยังเป็นความงามแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคย ถ้าจะพูดถึงความงามตามอย่างลัทธิสมัยใหม่ที่คลี่คลายอย่างเป็นสากล ก็น่าจะปาเข้าไปยุค 90s กับกระแสการตกแต่งสไตล์มินิมัลแบบเซน มาดอนน่ากับโยคะและอัลบั้ม Ray Of Light ที่ได้แรงบันดาลใจในเชิงสปิริชวลตะวันออก ไปจนถึง Lucy Liu นางฟ้าชาร์ลีตาชั้นเดียวในปี 2000 และการมาถึงของ K-Pop ในปัจจุบัน
และปีนี้ดูเหมือนจะยิ่งคึกคักเข้าไปอีกเมื่อ Mike White พาแขกกลุ่มใหม่เข้าเช็คอินที่โรงแรมในเครือ The White Lotus สาขาสมุย เป็นเครื่องยืนยันว่าเสน่ห์แบบไทยๆ ยังคงขายได้และขายดีในด้านการท่องเที่ยว แต่จะทำอย่างไรที่จะให้สินค้าและงานออกแบบไทยเป็นที่ยอมรับและเชิดชูในฐานะงานออกแบบชั้นดีที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศนอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวและซีรีส์วาย ก็คงต้องฝากทั้งภาครัฐ นักออกแบบ และผู้เกี่ยวข้องทุกคน ไปจนถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้ช่วยกันสนับสนุนและผลักดันกันอย่างสร้างสรรค์
อยากให้มีเทรนด์ใหม่แบบ “ไทยดิ” ที่หมายความว่า “แต่งบ้านแบบไทยดิแก” ขึ้นมาบ้าง
Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief