Nature Touch

เมื่อช่วงสัปดาห์งานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week 2024 ที่ผ่านมา มีการแสดงผลงานออกแบบหลากหลายไอเดียภายใต้คอนเซ็ปต์ Livable Space ว่าด้วยเรื่องการสร้างเมืองให้น่าอยู่  โดยเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ของงานดีไซน์กับพื้นที่อยู่อาศัย  ผู้คน และชุมชน

มีหลายชิ้นงานและโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ ซึ่ง QoQoon ได้รีแคปใจความสำคัญของบางส่วนในงานมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์ Design แต่มีงานหนึ่งที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว คือ โปรเจ็กต์ที่ตั้งชื่อเป็นการเชื้อเชิญแบบน่ารักๆ ว่า ‘โปรดมานั่งเล่นที่กำแพงบ้านฉัน’ ซึ่งเป็นผลงานทดลองสร้าง Livable Scape เกาะเกี่ยวกับกำแพงช่องลมด้านหน้าสำนักงานของ Dot Line Plane ด้วยโครงสร้างของนั่งร้าน ผสมผสานงานไม้ไผ่จาก ธ.ไก่ชน ให้เป็นที่นั่งเล่น พักคอย หย่อนใจ สำหรับผู้ที่แวะเวียนเข้ามาในชุมชน โดยคุณโม่ ภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ ดีไซน์ไดเร็กเตอร์ของ Dot Line Plane เล่าให้เราฟังว่า

“เดิมที ผนังช่องลมหน้าออฟฟิศของเราจะมีม้านั่งวางอยู่ และมักจะมีคนที่ผ่านไปมาชอบมานั่งเล่นและถ่ายรูปกันอยู่เรื่อยๆ เราเลยอยากขยายความการนั่งตรงนี้ให้มันสนุกมากขึ้น มีความเป็นไทย และความเป็นเด็ก เลยคิดถึงแคร่ไม้ไผ่กับชิงช้า มาผสมกับโครงสร้างเหล็กนั่งร้าน ที่ติดตั้งและถอดประกอบง่าย แบบเวทีงานเทศกาล ตกแต่งด้วยแสงไฟสีต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามเวลา ซึ่งออกแบบและติดตั้งโดยบริษัท Lightenna”

งานชิ้นนี้ทำให้ผมนึกถึงบ้านหลังเก่าที่เคยอยู่เมื่อสมัยเด็กๆ จำได้ว่าหน้าบ้านเป็นลานดินที่มีต้นมะม่วงที่เราสอยมากินกับน้ำปลาหวานในทุกๆหน้าร้อน ใต้ต้นมะม่วงวางแคร่ไม้ไผ่ไว้นั่งเล่นนอนเล่นรับลมเย็น ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้ผลอยหลับไปได้ง่ายๆ ที่นั่งที่ทำจากไม้ไผ่ของ ธ.ไก่ชน นี้ ทำให้นึกถึงแคร่ไม้ไผ่ที่มีความเป็นไทยและความทรงจำวัยเด็กอย่างที่คุณโม่ว่าจริงๆ (ยังไม่นับหมอนขิดที่วางอยู่บนนั้น) ถ้าจะขาดอะไรไปก็คงเป็นโอ่งดินเผาใบเล็กใส่น้ำฝนเย็นเจี๊ยบตั้งอยู่ใต้ค้างพลูด่างที่เลื้อยไปถึงชั้นบนของบ้าน ที่เราเอาไว้รับแขกเวลามาเยี่ยมเยียน รวมถึงให้คนที่เดินผ่านสัญจรไปมาได้ตักดื่มแก้กระหาย บางทีก็มีคุณลุงคุณป้าที่เดินขายของหาบเร่มาขอดื่มน้ำจากตุ่มนี้ตอนที่ผมกำลังเล่นซนอยู่หน้าบ้าน การได้เห็นงานของดีไซเนอร์ยุคใหม่ที่นำวิธีไทยแท้มาปรับให้ดูร่วมสมัยแบบนี้ทำให้ใจฟูได้ไม่น้อย บางคนอาจจะยังนึกภาพตามไม่ออก โดยเฉพาะเยาวรุ่นที่เกิดหลังสหัสวรรษใหม่และเติบโตมาในเมืองใหญ่ มันเป็นความรู้สึกที่ฉายเป็นภาพจากใจออกมาให้ดูกันไม่ได้ถ้าไม่เคยสัมผัสจริงๆ-ตรงนี้น่าจะเป็น Privilege ของคนต่างจังหวัดและการที่อยู่บนโลกนี้มานานพอควร

อีกหนึ่งสิ่งที่ถอดสาระสำคัญจากงานชิ้นนี้ออกมาได้ ก็คือเรื่องของการออกแบบภายใต้แนวคิดแบบ Biophilic Design หรือการดึงเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเท็กซ์เจอร์จากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติรวมไปถึงรูปทรงแบบออร์แกนิกที่มีความโค้งมน แทนที่จะเป็นแคร่ไม้ไผ่สี่เหลี่ยมมีขาอย่างที่เคยเห็นกัน

เท็กซ์เจอร์นั้นช่วยเพิ่มมิติเชิงลึกให้กับงานออกแบบ ในงาน biophilic design นั้นจะให้ความสำคัญกับผิวสัมผัสจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มคุณค่าให้กับสเปซ และช่วยกระตุ้นให้หวนรำลึกถึงประสบการณ์ของการใช้ชีวิตกลางแจ้ง คนส่วนใหญ่ชื่นชอบรูปทรง เส้นสาย ลวดลาย และสัมผัสจากพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติ มีการศึกษาที่ให้ผลการวิจัยมาแล้วว่า สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ผ่อนคลาย ช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสมาธิ จึงไม่แปลกที่จะเห็นสปาส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยวัสดุจากธรรมชาติ นอกจากนี้ผิวสัมผัสจากธรรมชาติยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และฤดูกาลที่ผันแปร

ในทางการออกแบบสามารถนำเสนอเท็กซ์เจอร์ผ่านองค์ประกอบต่างๆได้มากมาย ไม่ว่าจะสเปซ โครงสร้าง งานฟินิชชิ่ง ไปจนถึงเครื่องเรือนของใช้ของตกแต่ง วัสดุธรรมชาตินำพาเท็กซ์เจอร์ติดตัวจากต้นกำเนิดมาสู่พื้นที่อยู่อาศัยของเรา ไม้และหินมีลวดลายที่สวยงามอยู่ในเกรน สีเขียวจากต้นไม้เพิ่มมิติให้กับผนังเรียบๆ น้ำเพิ่มชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ด้วยความเคลื่อนไหวของคลื่นบนผิวน้ำ การใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติมาใช้ในงานออกแบบช่วยเติมความรุ่มรวยและสร้างปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างความสัมพันธ์ของเท็กซ์เจอร์กับประสาทสัมผัสทั้งห้า อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วใน Vol.3 Senses

Biophilia เป็นกระแสที่ถูกให้ความสำคัญมากในการออกแบบช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง นอกจากการใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบ และการใช้รูปทรงเส้นสายออร์แกนิกมาใช้ในการออกแบบอย่างที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีเรื่องของการผสานเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดมุมมองออกไปสู่วิวธรรมชาติ ช่องแสงและช่องลมที่ปล่อยให้ธรรมชาติได้เข้ามาสัมผัสกับคนที่อยู่ข้างใน รวมไปถึงการนำต้นไม้ สายน้ำ เข้ามาอยู่ภายในอาคาร หรือการออกแบบโครงสร้างให้ผสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติดั้งเดิม อย่างบ้านหรือรีสอร์ตหลายแห่งที่เลือกจะก่อสร้างอาคารแทรกไปกับต้นไม้ในพื้นที่เดิมแทนที่จะตัดโค่นถากถางเพื่อให้พื้นที่เหมาะกับอาคารที่ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้า

ในความเป็นมนุษย์เราถูกโปรแกรมมาให้รักในธรรมชาติและใฝ่หาชีวิตในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หลายคนอาจจะเถียงว่าไม่จริงสักหน่อย ฉันไม่รักสัตว์ ฉันไม่ชอบต้นไม้ ไม่ชอบท่องเที่ยวไปในที่ที่ลำบากกันดาร แต่คงไม่มีใครหรอกที่ปากแข็งพอจะมองเห็นวิวทิวทัศน์และธรรมชาติสวยๆ แล้วบอกว่าไม่ชอบ เราต่างต้องการสัมผัสและสร้างสัมพันธ์กับธรรมชาติเพื่อเติมพลังแห่งความสุขให้กับชีวิตด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ที่โลกแห้งแล้งกันเหลือเกินไม่ว่าจะเป็น Physically, Biologically และ Mentally

Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief

Share