Editor's Letter
Living In A Box
สำหรับคนส่วนใหญ่ (หรือจริงๆ แล้วแทบจะหมายถึงคนทุกคน) อาจจะคิดว่าการมีพื้นที่อยู่อาศัยที่ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็คงยิ่งดีเท่านั้น เพราะการมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตและประกอบกิจกรรมในแต่ละวันเหลือเฟือนั้นย่อมดีกว่าพื้นที่แคบๆ เป็นไหนๆ แต่หากลึกลงไปแล้ว ความรู้สึกที่มีต่อสเปซหรือพื้นที่ต่างหากที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากกว่า
ขนาดของบ้านนั้นมีอิทธิพลและมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของเราแบบเต็มๆ เพราะบ้านคือพื้นที่หลักที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งของชีวิตอยู่ในนั้น รวมไปถึงเป็นพื้นที่ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ที่อยู่อาศัยภายใต้หลังคาเดียวกัน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของคู่ชีวิต สมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่รูมเมท ขนาดและการวางเลย์เอ้าท์ของพื้นที่คือพื้นฐานที่จะสร้างและสานสัมพันธ์ของสมาชิกผู้อยู่อาศัยในบ้านแต่ละหลัง ยกตัวอย่างเช่น การที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะถูกปิดกั้น แบ่งซอยออกเป็นห้องยิบย่อย หรือเปิดโล่ง ล้วนส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่ต่างกัน การแบ่งกั้นพื้นที่ก็เสมือนการปิดกั้นปฏิสัมพันธ์ของคนในบ้าน ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ที่เปิดโล่งนั้นเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีกิจกรรมร่วมกันและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่ว่าจะแนบแน่นขึ้น หรือ แตกแยก -ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยและความชอบส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน
มีบทสรุปของงานวิจัยที่ได้จากผลการสำรวจครอบครัวตัวอย่าง จาก Brigham Young University ในรัฐ Utah ออกมาว่า ยิ่งเรารู้สึกกับบ้านไปในทางบวกเท่าไหร่ ความสัมพันธ์และสุขภาพของคนในบ้านก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ในงานสำรวจพบว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพนั้นสัมพันธ์กับปัจจัยพื้นฐานของครอบครัวสี่ประการ นั่นคือ ปฏิกิริยาตอบสนอง, การแสดงออกทางอารมณ์, การยอมรับ และ ความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งนักวิจัยพบว่าการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยมีส่วนทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือการรับรู้ถึงพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของพื้นที่ต่อคน ระยะห่าง หรือความแออัด เหล่านี้ต่างหากที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขามากกว่า
บ้านในเชิงกายภาพมีส่วนในการสร้างตัวตนของแต่ละคนอย่างไรนั้น ให้ลองมองย้อนกลับไปยังบ้านที่เราเติบโตมาในวัยเด็ก เราจะสามารถเข้าใจในความชอบและการจัดสรรใช้สอยบ้านในปัจจุบันของเราได้ดีขึ้น บ้านในวัยเยาว์นั้นถูกฝังชิปลงในจิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว และสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวเราในปัจจุบัน บ่อยครั้งที่ผู้คนจะเลือกบ้านที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับบ้านที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่ในวัยเด็ก และบางครั้งพวกเขาก็ทำสิ่งที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความประทับใจในวัยเยาว์ว่าพวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงหรือเก็บรักษามันเอาไว้
แม้ว่างานวิจัยข้างต้นจะเป็นของชาติตะวันตก แต่ผมรู้สึกว่ามันตอบคำถามหลายๆ แง่มุมของความเป็นบ้านในสังคมไทยได้ดีไม่แพ้กัน เพราะสังคมไทยเป็นครอบครัวใหญ่ มีการอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวจำนวนมาก ทุกอย่างที่เราเคยคุ้นในวัยเด็กถูกนำกลับมาทำและใช้อย่างคุ้นเคยจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปิดประตูเข้าบ้านมา ผมยังชินกับการวางกุญแจไว้บนตู้เย็นเหมือนที่พ่อแม่เคยทำเป็นประจำที่บ้านเก่า รวมไปถึงการจัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่เน้นการจัดวางเลย์เอ้าท์และการใช้งานในแต่ละพื้นที่เหมือนบ้านพ่อบ้านแม่ แต่อาจจะต่างกันตรงที่จากบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง กลายเป็นห้องพักบนคอนโดมิเนียมขนาดย่อม ที่ย่อส่วนทุกอย่างลงมาอยู่ภายในยูนิตเดียว ต้นมะม่วงที่ลานหน้าบ้านกลายร่างมาเป็นต้นไม้ในกระถางเล็กๆ บนระเบียงแทน
ด้วยสภาพสังคมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ในชีวิตของคนเมืองทั่วโลกหดเล็กลงเหลือแค่คืบ รูปแบบการใช้ชีวิตและจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยจึงต้องถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ (เช่นเดียวกับราคาอสังหาฯ บ้านเราที่แพงระยิบ และ overpriced มากกกก-เติมก.ไก่ ได้อีกร้อยตัว) เราจะมีวิธีการจัดการและใช้ชีวิตอย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นฐานของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งถึงแม้จะลดขนาดลง แต่ไม่ลดคุณภาพในการใช้ชีวิต เรามีตัวอย่างของห้องพักขนาดเล็กใจกลางกรุงเทพฯ ของอินทีเรียดีไซเนอร์ที่เป็นตัวอย่างของการจัดสรรพื้นที่เล็กๆ แห่งความสุขได้อย่างลงตัว, ไอเดียจัดเก็บข้าวของในพื้นที่แคบที่ทำตามกันได้ง่ายๆ รวมไปถึงของใช้ของตกแต่งดีไซน์สวยที่นำมาเสนอเป็นประจำเหมือนเช่นเคย หรือจะเที่ยวทิพย์ท่องไปอีกฟากของโลกกับ QoQoon’s Lifestyle ก่อนจะกดตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวจริงสำหรับฮอลิเด์ซีซั่นที่กำลังจะมาถึง ลองกด browse เข้าไปดูในแต่ละ section กันได้เลย
Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief