Editor's Letter Vol.3

Editor's Letter

Liberate Your Senses

ขณะที่ผมกำลังนั่งคิดว่าจะเริ่มบทบรรณาธิการของเดือนสิงหาคม อันว่าด้วยเรื่อง Senses นี้อย่างไรดี เสียงเพลง He Loves Me (Lyzel in E Flat) ของ Jill Scott ก็ลอยมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงพอดี เธอเริ่มต้นเพลงด้วยเนื้อร้องเรียบง่ายคลอไปกับดนตรีนีโอโซลสไตล์ 90s อ้อยอิ่ง เล่าเรื่องความรักของชายหนุ่มที่มีต่อเธอว่า

“You love me, especially different every time
You keep me on my feet, happily excited
By your cologne
Your hands
Your smile
Your intelligence”

เนื้อเพลงง่ายๆ แต่สื่อถึงความรักที่เต็มไปด้วยแพสชั่นนี้ เหมือนเป็นคำตอบของสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงในเดือนนี้ จิลล์บรรยายถึงสิ่งที่ชายหนุ่มคนนี้ทำให้เธอหลงไหลในทุกสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอมของโคโลญจน์ มือที่สัมผัสผิวกาย รอยยิ้มที่มองแล้วชวนลุ่มหลง มันคือตัวอย่างของความพึงใจซึ่งเป็นการตอบสนองโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมาพร้อมกับประสาทสัมผัสทั้งห้า อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และรับรู้สัมผัสทางผิวกาย

ในทางศาสนา ถือว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหล่านี้ เป็นสิ่งอันตราย เป็นการยั่วยุทางกามารมณ์ที่อาจจะนำมาซึ่งบาปต่างๆ คือกิเลสที่ต้องควบคุม แต่ในเมื่อเราเกิดมาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้โดยธรรมชาติ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือสิ่งที่สร้างความสุขความรื่นรมย์ในใจเรา การตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านี้ถ้าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ไม่น่าจะผิดบาปอะไรนักหรอก การสร้างพื้นที่แห่งความพึงใจของตัวเองด้วยองค์ประกอบที่ตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้งห้า ทำให้พื้นที่นั้นๆ มีเสน่ห์ขึ้นมาอย่างชัดเจน เหมือนกับชายหนุ่มคนนั้นของจิลล์ สก็อตต์ บ้านที่ตกแต่งมาอย่างสวยงาม แต่ขาดซึ่งสัมผัสแห่งความรื่นรมย์อย่างอื่น ก็เหมือนกับชายหนุ่มที่หล่อเหลา แต่จืดชืด ไร้ซึ่งบุคลิกและเสน่ห์

ในเรื่องของสเปซเอง ก็มีบุคลิกเฉพาะตัวไม่ต่างจากคน ผมยังจำกลิ่นหนึ่งที่ติดจมูกและฝังอยู่ในความทรงจำจนถึงทุกวันนี้ มันคือกลิ่นที่ผมเรียกว่า ‘กลิ่นธนาคาร’ มันเป็นกลิ่นของห้องแอร์อับๆ ติดฟิล์มกรองแสงมืดๆ ที่มีกลิ่นควันบุหรี่ผสมกับกลิ่นหนัง ที่สมัยเป็นเด็กผมติดสอยห้อยตามแม่ไปทำธุรกรรมในธนาคารอยู่บ่อยๆ สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การนั่งรอคิวนานๆคงทำให้คอบุหรี่อดใจไม่ไหวที่จะหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดพ่นควันฉุยกันในห้องแอร์เย็นๆทึมๆ กลิ่นควันบุหรี่ที่ลอยไปติดตามผ้าม่านและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ กลายเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลิ่นบุหรี่ผสมกับกลิ่นโซฟาหนังเก่าๆ…ฟังดูไม่น่าจะอภิรมย์นัก แต่ผมกลับชอบกลิ่นนี้ เป็นกลิ่นที่บ่งบอกบุคลิกที่ชัดเจนของธนาคารในยุคนั้น และเป็นกลิ่นแห่งความทรงจำที่คนสมัยนี้คงนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าผมเกิดอยากทำน้ำหอมขึ้นมา ผมคงทำน้ำหอมกลิ่นธนาคารนี้ออกมาขาย อาจจะมีคนซื้อหรืออาจจะเจ๊งก็ไม่ทราบได้ เพราะการรับรู้เรื่องกลิ่นและความชอบของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เช่นเดียวกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ไม่แปลกที่เราจะมีอาหารจานโปรดที่เพื่อนไม่ชอบ เราชอบเดินบนพื้นไม้แต่คนอื่นชอบเดินบนพื้นกระเบื้อง และเราจะเกลียดและหงุดหงิดกับเพลงดังในติ๊กต่อกที่โผล่มาทุกครั้งที่เลื่อนฟีด ส่วนเรื่องความงามทางสายตานั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ Subjective ที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นสเปซที่ตอบสนองต่อประสาทสัมผัสที่ต่างกัน ย่อมสร้างบุคลิกส่วนตัวที่แตกต่างให้กับสเปซนั้นๆ

ในทางดีไซน์นั้น มีทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องงานออกแบบที่ตอบสนองประสาทสัมผัสทั้งห้าที่เรียกว่า The Five Senses Thoery อยู่ ซึ่ง Jinsop Lee อินดัสเตรียลดีไซเนอร์ชาวเกาหลี เคยพูดถึงเรื่องนี้ใน TedTalk เมื่อหลายปีก่อน ใจความสำคัญคือการออกแบบโดยถือหลักการของความพึงพอใจในการตอบสนองสัมผัสทั้งห้า เพราะในการเสพหรือบริโภคของหนึ่งชิ้น มันไม่ได้หมายถึงการใช้ฟังก์ชั่นหลักของสิ่งนั้นเพียงอย่างเดียว การตอบสนองด้วยสัมผัสอื่นจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับงานออกแบบนั้นๆ ลีนำเสนอด้วยกราฟที่วัดความพึงพอใจในสัมผัสแต่ละทางขณะใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งอันที่จริงสิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเราคงไม่ได้กินอาหารและรับรู้รสชาติเพียงอย่างเดียว กลิ่นหอมของสมุนไพรและเครื่องเทศช่วยเร้าความรู้สึกอยากอาหารให้มากขึ้น ส่วนซุปร้อนๆมันก็ชุ่มคอกว่าซุปเย็นๆเป็นไหนๆ ทั้งที่มันคือซุปจากหม้อเดียวกันแท้ๆ สมองเราจะประมวลทุกอย่างพร้อมๆกันแล้วตอบสนองออกมาเป็นความสุขในเชิงจิตวิทยา ลีไม่ใช่คนคิดค้นเรื่องนี้ แต่เป็นคนที่นำเอาสิ่งนี้มาอธิบายด้วยกราฟให้เราเห็นภาพ เพื่อเป็นตัวช่วยประเมิณคุณค่าของชิ้นงานออกแบบ ทุกวันนี้คงมีน้อยคนที่จะเลือกซื้อลำโพงเสียงดีขั้นเทพโดยไม่ดูความสวยงามของหน้าตา กินข้าวในร้านอาหารที่เหม็นอับอุดอู้ หรือนอนนวดในสปาที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม เพราะสมองของเราประเมิณค่าและตอบสนองต่อสัมผัสต่างๆไปพร้อมๆกัน ดังนั้นเราสามารถสร้างพื้นที่แห่งความพึงใจของตัวเองได้ด้วยการเพิ่มสัมผัสที่เราพอใจไว้ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าเปล่าบนพื้นไม้ที่ให้สัมผัสถึงธรรมชาติ แสงสลัวจากโคมไฟในห้องนอนที่เปิดตอนนอนคุดคู้ใต้ผ้าห่มหนานุ่ม เสียงเพลงที่เปิดคลอตอนทำอาหาร และกลิ่นของขนมปังอบใหม่ที่หอมอบอวลไปทั่วทั้งครัว กลิ่นเครื่องหอมในห้องน้ำตอนนอนแช่ในอ่างอาบน้ำอุ่นๆ สิ่งเล็กน้อยแต่ละอย่างที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้งหมด ล้วนช่วยสร้างอาณาจักรแห่งความสุขในพื้นที่ส่วนตัวของเรา

ผมเดินไปกลับแผ่นเสียงตอนที่เพลงจบ ตอนหยิบแผ่นขึ้นมา นึกขึ้นได้ว่ามีอัลบั้มเพลงนี้ของจิลล์ สก็อตต์ กี่ก็อปปี้กันนะ ทำไมต้องซื้อแล้วซื้ออีก แรกทีเดียวนั้นซื้อเป็นซีดีตอนที่ออกมาใหม่ๆ จนมาเป็นยุคดิจิตัลที่เปิดสตรีมมิ่งแล้วต่อบลูทูธออกลำโพง เพลงเดียวกันแท้ๆ แต่ฟังจากไฟล์เสียงอย่างเดียว มันก็ไม่เหมือนตอนฟังครั้งแรกที่ฟังไปพร้อมอ่านเนื้อเพลง และคลี่ดูอาร์ตเวิร์คบนปกซีดีไปด้วย จนถึงตอนนี้ การได้สัมผัสแผ่นเสียงและหยิบเข็มมาวางลงบนร่องก็ให้ความรู้สึกของการฟังเพลงเดิมที่ต่างออกไป เพราะมันคือประสบการณ์ของการฟังเพลงที่มากกว่าแค่การใช้หูฟัง แต่คือประสบการณ์ของการใช้สัมผัสต่างๆรับรู้ความรู้สึกและความรื่นรมย์ไปพร้อมๆกัน

ลองหันมามองและใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆรอบตัว และเปิดประสบการณ์ของการรับรู้แห่งสัมผัสต่างๆ กันดูครับ 

Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief

Share