Editor's Letter
Minimize Your Life
ทุกวันนี้ คำว่า Minimal ไม่ใช่คำแปลกใหม่ ไปไหนก็จะได้ยินคำว่ามินิมัลอยู่ทั่วไป แล้วทำไมอยู่ดีๆ ช่วงนี้ถึงได้ฮิตคำว่ามินิมัลกันจัง บางครั้งก็เอามาเป็นจุดขาย ทั้งบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงอาหาร และไลฟ์สไตล์
พอเริ่มใช้กันจนเกร่อ ก็ประดิษฐ์คิดค้นสไตล์และนิยามคำกันขึ้นมาใหม่ มินิมัลแบบนั้น มินิมัลแบบนี้ ฟังแล้วก็งงๆ เหมือนเวลาได้ยินเพลงบอสซาโนว่าปลอมตามร้านกาแฟ การรับรู้เรื่องสไตล์และวิถีแบบมินิมัลลิสต์ของคนยุคนี้ก็อาจจะผิดเพี้ยนไปเหมือนเพลงของเลดี้กาก้าเวอร์ชั่นบอสซาโนว่าตามคาเฟ่เก๋ๆ ที่อ้างอิงการตกแต่งร้านจากรูปใน Pinterest นั่นแหละ
แล้วจริงๆ Minimalist คืออะไร? สั้นๆง่ายๆเลย มินิมัลลิสต์ (Minimalist) ก็คือ ความเรียบง่าย การลดทอนรูปทรงและเส้นสายให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็นที่จะเกิดความงามและประโยชน์ใช้สอยสำคัญขั้นพื้นฐาน ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งงานศิลปะ ไลฟ์สไตล์ สถาปัตยกรรม อินทีเรีย และงานออกแบบอื่นใดได้หมด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความเรียบ ความน้อย จะจัดเป็นมินิมัลเสมอไป และมินิมัลก็ใช่ว่าจะต้องเรียบไปเสียหมด ฟังเหมือนง่ายแต่เข้าใจยาก
ส่วนตัวแล้ว ผมว่า “มินิมัลลิสต์” มีหลายมิติมากกว่าแค่โต๊ะไม้สี่เหลี่ยม แก้วน้ำทรงกระบอกใส หรือเสื้อเชิ้ตแพทเทิร์นเรียบสีขาว มากกว่าศิลปะและงานดีไซน์ มินิมัลลิสต์ คือแนวคิดเชิงปรัชญาของการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นการหาความหมายให้กับคำตอบของการใช้ชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับวิถีแห่งเซน หรือศาสนาพุทธ อันว่าด้วยเรื่องของการปล่อยวาง และไม่ยึดติด ลองคิดดูว่าในช่วงชีวิตของเรา เราไขว่คว้าหาสิ่งที่เรา (คิดว่า) ไม่มี มากี่ร้อยพันอย่าง หลายคนหามาได้และเก็บมันไว้ในฐานะของใช้ ของสะสม เครื่องเตือนใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับว่าจะให้ค่าและเรียกมันว่าอะไร เราบริโภคสิ่งต่างๆ เพราะคิดว่านั่นคือความสุข-ความสุขที่เราพึงมี พึงได้ แล้วพอได้มันมา เรามีความสุขจริงหรือเปล่า? ก็อาจจะ…แต่ก็เพียงชั่วครู่ แล้วเราก็อยากได้ความสุขในรูปแบบใหม่ไปอีกเรื่อยๆ และดูจะไม่จบง่ายๆ
เมื่อช่วงโควิดแพร่ระบาด เราไม่ได้มีกิจกรรมที่จะทำอะไรกันมาก เรียกได้ว่าใช้ชีวิตแบบมินิมัลจริงๆ (อ้อ แล้วก็มีเงินใช้แบบมินิมัลด้วย) การดู Netflix คือกิจกรรมหนึ่งที่หลายคนคงจะทำเหมือนๆกัน ผมกดรีโมทไล่ไปเจอสารคดีเกี่ยวกับเรื่องมินิมัลของคู่หู Joshua Fields Millburn และ Ryan Nicodemus ในนาม The Minimalists ที่เปิดมุมมองเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบมินิมัลให้กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสไตล์ตามประสาคนที่ร่ำเรียนและทำงานในแวดวงศิลปะและดีไซน์ ดูจบแล้วมองไปรอบบ้านตัวเองก็พบว่าเต็มไปด้วยข้าวของระเกะระกะมากมาย ทั้งที่ตอนออกแบบตกแต่งบ้านตัวเองก็พยายามทำให้มันเป็นแบบเรียบๆ มินิมัลที่สุด แล้วก็ได้คำตอบแวบเข้ามาในหัวตัวเองทันทีว่า นี่ไงล่ะ! มินิมัลมันไม่ใช่แค่การตกแต่งและใช้ข้าวของดีไซน์เรียบ แต่มันคือปรัชญาและศิลปะในการใช้ชีวิต ว่าแล้วก็เริ่มเก็บของ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่จบไม่สิ้น จะเดินเข้าบ้าน ยังต้องใช้วิธีเขย่ง ก้าว กระโดด คือ เขย่งหลบของชิ้นหนึ่ง ก้าวข้ามของอีกชิ้นหนึ่ง และกระโดดขึ้นไปนอนบนเตียง บางทีการกำจัดข้าวของบ้าบอออกไปบ้าง ก็อาจจะช่วยให้ชีวิตสดใสขึ้นมาได้
ลองสำรวจตัวเองดูว่าเรามีข้าวของมากเกินความจำเป็นหรือเปล่า เราใช้พื้นที่ไปกับการเก็บสิ่งของที่เราไม่ได้ใช้ไว้มากแค่ไหน แล้วเราเหลือพื้นที่ของชีวิตจริงๆสักเท่าไหร่กัน ลองจัดพื้นที่ของบ้าน แล้วเราจะพบพื้นที่จริงของชีวิต จะ Spark Joy หรือไม่ Spark Joy แบบมาริเอะ คนโดะ ก็สุดแท้แต่ ส่วนผมเองกำลังคิดว่า ถึงเวลาที่เราจะสำรวจความต้องการของตัวเองจริงๆ เพื่อทวงคืนพื้นที่ชีวิตตัวเองแล้วหรือยัง? เพราะเมื่อตัวเราโล่งขึ้น ชีวิตเราก็จะอิสระขึ้น เราจะมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆดีๆ หรือแม้แต่ทำอะไรเพื่อคนอื่นและสังคมมากขึ้น เมื่อเราปล่อยวาง ไม่ยึดติด เราก็เรียนรู้ที่จะให้มากขึ้น เรื่องพวกนี้อาจจะฟังดูไกลเกินกว่ามินิมัลในแบบที่เราจะพูดถึงกันตั้งแต่แรก แต่เชื่อเถอะ มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
ถึงตอนนี้ ผมยังติดใจกับคำถามของ Joshua ในสารคดี Less Is Now ที่ว่า “ชีวิตเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นไหม ถ้าเรามีน้อยลง” …ไม่มีใครรู้คำตอบนี้หรอก จนกว่าจะลองทำดู
Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief