Domestic Love

สำหรับสื่อหรือนิตยสารแฟชั่นทั้งทัวไทยหัวเทศและเกือบทั่วโลกที่แฟชั่นเดินทางไปถึง เดือนกันยายนดูเหมือนจะเป็นเดือนพิเศษและทุกสื่อก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในเดือนนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดศักราชใหม่ของแฟชั่นในแต่ละปี แต่ละสื่อต่างก็ออกมานำเสนอเทรนด์แฟชั่นและงานออกแบบใหม่ๆ รวมไปถึงทำนายทายทักแนวโน้มในอนาคต และเป็นเดือนที่หน้าโฆษณาในนิตยสารขายดีเป็นพิเศษ

ผมยังจำสมัยที่ทำงานนิตยสารได้ดีว่าฉบับ September Issue นั้นหนาหนักขนาดไหน บางปีความหนาก็ราวกับสารานุกรมกันเลยทีเดียว ยิ่งหัวหนังสือใหญ่ๆ ที่ทรงอิทธิพลอย่าง Vogue ด้วยแล้ว ไม่ต้องพูดถึง เคยมีคำกล่าวที่ว่า “Vogue ฉบับเดือนกันยายน คือคัมภีร์ไบเบิลแห่งวงการแฟชั่น” นั้นคงไม่ใช่เรื่องเกินเลย เพราะถ้าไม่ใช่คัมภีร์ชี้เป็นชี้ตายวงการแฟชั่น ในเรื่องความหนาก็คงคือไบเบิลดีๆ นี่เอง เพราะหนาพอกัน แล้วสำคัญขนาดไหน? ก็สำคัญขนาดมีหนังสารคดีความยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งเรื่อง The September Issue ที่ว่าด้วยเบื้องหลังการผลิตนิตยสารฉบับสำคัญนี้ออกมาในปี 2009 กันเลยทีเดียว

ที่เกริ่นเรื่องนิตยสารแฟชั่นกันมาตั้งนาน อย่าเพิ่งเข้าใจว่า QoQoon จะทำ Fashion Issue ในเดือนแห่งแฟชั่นนี้ ถึงแม้ในความตั้งใจเดิม เราจะอยากนำเสนอเรื่องของเทรนด์งานออกแบบสำหรับซีซั่นใหม่ก็ตาม แต่หลังจากที่เราพูดคุยเรื่องของ Sustainability ไปในฉบับที่ผ่านมา ผมได้ค้นพบว่ายังมีนักออกแบบไทยหลายคนโดยเฉพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ที่มีไอเดียสร้างสรรค์น่าสนใจไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมถึงการได้เดินทางไปชมงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคที่สงขลาที่ผ่านมา ก็ยิ่งเห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนศิลปะและวงการออกแบบให้ก้าวไปข้างหน้าในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งหากจะพูดกันตามตรงแล้วในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่าง เราอาจจะยังไม่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำที่งานออกแบบของเขามีมามากกว่าร้อยปี แต่ของเรานั้นเพิ่งเริ่มจริงจังเมื่อราวห้าถึงหกสิบปีมานี้เอง แต่เสน่ห์ของงานออกแบบแบบไทยๆ ก็จับใจทุกครั้งเมื่อได้เจอชิ้นงานดีๆ เข้าสักชิ้น

ทริปปักษ์ใต้ดีไซน์วีคที่สงขลา นอกจากจะทำให้ได้เห็นไอเดียที่น่าสนใจและงานออกแบบที่สวยงามแล้ว ยังได้เห็นถึงขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตพื้นถิ่นแบบไทยๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ รวมไปถึงความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่พยายามจะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ซึ่งในอดีต คนเจน X จากต่างจังหวัดที่เข้ามาร่ำเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบแล้วก็มักจะตั้งรกรากและทำงานในกรุงเทพฯ กันเสียแทบทั้งหมด น้อยคนนักที่จะกลับไปทำงานและใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่างล้วนมากระจุกตัวกันอยู่ที่จังหวัดเล็กๆ แคบๆ อย่างกรุงเทพฯ ผมมักจะได้ยินหลายคนโดยเฉพาะคนที่เรียนจบด้านศิลปะหรือออกแบบพูดว่า ถ้ากลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดก็ไม่รู้จะทำงานอะไร ไม่มีงานในสาขาวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาให้ได้ทำสักเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้ ผมเห็นคนเจน Y ลงไปหลายคนกลับไปบ้านเกิดของตัวเองที่ต่างจังหวัด และใช้ความรู้ความสามารถที่ได้มาพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เห็นได้จากทุกวันนี้มีร้านหรือคาเฟ่สวยๆ คอนเซ็ปต์น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายในหัวเมืองใหญ่ๆ ของต่างจังหวัด และก่อให้เกิดเป็นคอมมิวนิตี้เล็กๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนและสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจร่วมกันขึ้นมา จากบางกอกดีไซน์วีค สู่เชียงใหม่ดีไซน์วีค จนมาถึงปักษ์ใต้ดีไซน์วีค จึงใช้เวลาเพียงไม่ถึงสิบปี และเราหวังว่ามันจะไม่จบแค่ที่สงขลาหรือปักษ์ใต้ ผมเชื่อว่าพลังขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่จะก่อให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้กระจายตัวออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีก

QoQoon ฉบับนี้จึงเหมือนภาคต่อขยายจากฉบับที่แล้ว ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานออกแบบของไทยที่พยายามจะใช้ทักษะและนวัตกรรมการออกแบบอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการความคิดเชิงสร้างสรรค์ ที่นำองค์ความรู้พื้นบ้านแบบไทยๆ มาผนวกเข้ากับงานออกแบบร่วมสมัยที่ปักษ์ใต้ การตกแต่งบ้านที่นำแนวคิด sustainable design มาใช้ในการรีโนเวทบ้านไทยให้สวยร่วมสมัย และยังคงความอบอุ่นแบบครอบครัวไทยที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามยุคสมัยใหม่ๆ รวมไปถึงวิถีชีวิตในย่านชุมชนเก่าแก่ที่พยายามรักษาเสน่ห์ดั้งเดิมให้ก้าวเดินไปกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ แบบไม่เคอะเขิน และยังมีเรื่องของเทรนด์การออกแบบตกแต่งที่น่าสนใจในบ้านเรา ซึ่งนำเสนอเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นำมาปรับใช้กับบ้านของทุกคน

และนี่คือ The September Issue ของ QoQoon ครับ

Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief

Share