
Photo: Martin Jernberg on (Unsplash)
Editor's Letter
Cinema Paradiso
เหมือนกับเรื่องตลกร้าย เมื่อเราตั้งใจจะทำ QoQoon ฉบับแรกของปี 2025 เป็น Movie Issue ที่ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ของภาพยนตร์กับงานดีไซน์และไลฟ์สไตล์ของผู้คน
แต่หลังปีใหม่ปุ๊บเราก็เห็นภาพข่าวไฟไหม้ที่แอลเอโดยเฉพาะในย่านฮอลลีวูด อันเป็นย่านสำคัญที่สุดของวงการภาพยนตร์โลกเต็ม feed ภาพของไฟที่โหมกระหน่ำจากแรงกระพือของลมอันบ้าคลั่งที่มีฉากหลังเป็น Hollywood Hills นั้นบีบหัวใจพอๆ กับฉากไฟไหม้โรงหนังใน Cinema Paradiso หนังคลาสสิกที่กวาดรางวัลจากทุกเวทีสำคัญๆ ในปี 1988 ไม่ว่าจะเป็นรางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากทั้งเวทีลูกโลกทองคำและออสการ์ และอีก 5 รางวัล Bafta บางคนอาจจะหมั่นไส้ นึกในใจว่า “ไปเกี่ยวอะไรกับเขา บ้านตัวเองก็ไม่ใช่” -ก็ขอตอบแบบที่อาจจะมีใครมองว่าดัดจริตว่า ความรู้สึกของผมที่มีต่อโลกของหนังถึงอาจจะไม่มากเท่าความผูกพันของเจ้าหนูโตโต้และลุงอัลเฟรโดที่มีต่อโรงหนังเก่าๆ ในเรื่อง Cinema Paradiso แต่เห็นแล้วก็ใจหายไม่น้อย โดยเฉพาะภาพป้ายถนน Sunset Boulevard กลางเปลวเพลิงที่เห็นในนิตยสาร Time ทำให้นึกถึงเพลง As If We Never Said Goodbye เวอร์ชั่นของ Glenn Close ในมิวสิคัลเรื่อง Sunset Boulevard ที่ Andrew Lloyd Webber ดัดแปลงมาจากหนังฟิล์มนัวร์คลาสสิกชื่อเดียวกันจากปี 1950
ถ้าจะบอกว่าชีวิตการทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและงานออกแบบของผมนั้นมีที่มาจากการดูหนังฟังเพลงก็คงไม่ผิด เริ่มจากการดูหนังดูการ์ตูนอย่างเด็กทั่วไปควบคู่ไปกับการวาดรูปที่เริ่มจากการวาดตัวการ์ตูนต่างๆ จนราวช่วง ม.1-ม. 2 ที่เริ่มอ่านหนังสือแบบจริงจังหน่อย ผมจำได้ว่าคุณพ่อจะรับนิตยสาร สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะข่าวการเมืองต่างๆ เด็กอย่างผมที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง ก็จะเปิดเข้าไปดูหน้าการ์ตูน โดยไม่ได้สนใจหรอกว่ามันคือการ์ตูนการเมือง สำหรับเด็กอายุ 11-12 ขวบ การ์ตูนก็คือการ์ตูน พอดูการ์ตูนเสร็จก็จะพลิกไปท้ายเล่มเพื่ออ่านคอลัมน์หนังและเพลง ดูว่ามีอะไรน่าดูน่าฟัง และก็น่าจะเป็นคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ของคุณสนานจิตต์ บางสพาน ในสยามรัฐฯ นี่แหละ ที่ปลูกฝังรสนิยมการดูหนังที่ต่างจากเด็กวัยเดียวกันในช่วงนั้น ผมเป็นเด็กที่เอนจอยกับหนังอย่าง The Missing และ The Killing Fields ในขณะที่เพื่อนๆ เขาชอบดู Star Wars กัน ความที่ชอบดูหนังฟังเพลงสากลมาตั้งแต่เด็กนี่ละมังที่อาจจะทำให้ตัวเองชอบในงานศิลปะแทบจะทุกแขนง และเลือกที่จะเรียนออกแบบและสอบเอนทรานซ์เข้าคณะสถาปัตย์ในเวลาต่อมา
พอโตมาหน่อยผมใช้ความชอบส่วนตัวในเรื่องหนังและเพลงมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ตั้งแต่ทำโปรเจ็กต์ส่งอาจารย์สมัยเรียนมหาลัย จนเอามาใช้ทำมาหากินจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะงานสไตลิ่งที่นำเอาอิทธิพลของหนังและเพลงที่ตัวเองชอบมาใช้อยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งอาจจะไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะมันฝังรากลึกลงไปในเมมโมรี่สมองทับซ้อนกับประสบการณ์อื่นๆ ออกมาเป็นมุมมองทางศิลปะส่วนตัว ผมว่าศิลปะทุกแขนงนั้นล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ใน Volume นี้เราจึงมีบทความเรื่องของภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อป (The Movies That Moves Pop Culture) รวมไปถึงเรื่องราวของงานดีไซน์ในโลกภาพยนตร์ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครและพล็อตเรื่อง แต่ไลฟ์สไตล์ตลอดจนบุคลิกตัวละครในเรื่องล้วนสะท้อนผ่านออกมาทางสถานที่และรายละเอียดของการตกแต่งในฉากต่างๆ ซึ่งนอกจากช่วยส่งเสริมความสมบูรณ์ให้กับหนังแล้ว ยังบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัย และสะท้อนถึงเทรนด์ในแต่ละช่วงเวลา
ยังจำความหรูหราแบบอาร์ตเดโคของคฤหาสน์แกทส์บี้กันได้ไหม? ภาพของความฟุ่มเฟือยที่สะท้อนถึงยุคทศวรรษที่ 20 ที่แสนรุ่มรวย หรือจะเป็นความเรียบง่ายแบบมินิมัลลิสต์ใน 2001: A Space Odyssey ที่เปรียบเสมือนภาพตัดกันอย่างสิ้นเชิงที่ท้าทายความคิดของเราเกี่ยวกับการครอบครองทรัพย์สิน ฉากภาพยนตร์อันเป็นสัญลักษณ์เหล่านี้ และอีกมากมาย ไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิงให้เราเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่องานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์โมเดิร์นแบบ Mid-Century ของ Mad Men หรืออพาร์ตเมนต์ที่เต็มไปด้วยสีสันของเอมิลี่ในปารีส ภาพยนตร์มีพลังในการพาเราไปสู่โลกต่าง ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้เราสร้างพื้นที่ที่สะท้อนบุคลิกและแรงบันดาลใจที่เป็นเอกลักษณ์ -ไม่แปลกเลยถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมาแต่งบ้านตามอย่างหนังที่ตัวเองชอบ
นอกจากนี้ เรายังมีบ้านที่ใช้เป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำ M. Son of the Century ซีรีส์เรื่องล่าสุดของ Joe Wright ผู้กำกับที่มีหนังขึ้นหิ้งอย่าง Atonement และ Darkest Hour ที่กำลังออกอากาศอยู่ใน Sky TV ขณะนี้ เป็นบ้านที่อยู่บนปก QoQoon ฉบับ Cinema Paradiso ที่เราได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อหนังของ Giuseppe Tornatore แล้วบังเอิญสถาปนิกที่ออกแบบบ้านหลังนี้ก็ชื่อจิวเซปเป้เหมือนกัน ถือเป็นความบังเอิญที่แสนพิเศษของฉบับนี้
ผมลองมานั่งนึกถึงหนังที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานและชีวิต พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหนังในยุค 80s-90s ถึง 2000 ต้นๆ ถ้าจะใช้คำแบบเพ้อๆ อย่างที่สื่อสมัยนี้ชอบใช้กัน ก็คงจะเป็นพวกที่ “หลงใหลในอดีต” และชอบ “เดินเล่นในความทรงจำ” คงต้องให้ใครสักคนมาช่วยดึงสติกลับมาสู่โลกยุคปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไม่วายจะนึกไปประโยคของลุงอัลเฟรโดที่บอกกับโตโต้ว่า “Don’t give in to nostalgia” อันเป็นประโยคในความ nostalgia ของผม…เป็นความแอนตี้ nostalgia ที่แสนจะ nostalgia
Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief