Editor's Letter
Black Beauty
“คิดไม่ออก บอกสีดำ” คงจะมีหลายคนใช้หลักเกณฑ์นี้ในการเลือกของใช้ เสื้อผ้า หรืออะไรก็ตามที่นอกจากฟังก์ชั่นในการใช้งานแล้วยังมีเรื่องของรูปลักษณ์ความงามเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสีดำนั้นถือว่าเป็นสีกลางที่สวยรอดปลอดภัยในสายตาของคนส่วนใหญ่เช่นเดียวกับสีขาว แต่ให้ความรู้สึกที่ดูลุ่มลึก มีชั้นเชิงกว่า ถ้าไม่มั่นใจในตัวเลือกที่มีอยู่ในมือ สีดำดูจะเป็นสีที่เพลย์เซฟที่สุดสีหนึ่ง
อันที่จริงแล้ว สีดำนั้น ไม่ใช่ “สี” อย่างที่หลายคนเข้าใจ สีดำเป็นสีอะโครมาติก หมายถึง “ไม่มีสี” และดูดซับสีทั้งหมดในสเปกตรัมของแสงที่มองเห็นได้ แต่ถึงกระนั้นทั้งเราๆ ท่านๆ และบรรดานักออกแบบก็จัดให้สีดำเป็นสีอยู่ดี และนำมันมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
สีดำ เป็นสีประหลาดที่มีความหมายมากมายหลายนัย น่าจะมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาสีในวงจรสีทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความและพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละท้องถิ่น แต่ที่เห็นและเข้าใจตรงกันเป็นส่วนใหญ่ในหลายอารยธรรมคือสื่อถึงความชั่วร้าย ความตาย และความโศกเศร้า เล่ามาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งทึกทักว่า QoQoon ฉบับเดือนตุลาคมที่กำลังอ่านอยู่นี้เป็นฉบับฮัลโลวีน เลยทำเป็นสีดำล้วน เพราะในทางตรงกันข้าม สีดำ ยังสื่อถึงความหรูหรา สง่างาม ความแข็งแกร่ง ความลึกลับ เย้ายวน น่าค้นหา เมื่อพูดถึงสีดำเราจึงมีมโนภาพที่มีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ความชอบและการตีความส่วนตัวของแต่ละบุคคล ด้วยความที่เป็นตัวแทนที่สื่อได้ทั้งในแง่ลบและแง่บวก สีดำจึงจัดเป็นสีประหลาดอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น (ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่สีก็ตาม)
ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ สีดำมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในประวัติศาสตร์ มีการใช้สีดำในเชิงสัญลักษณ์มากมาย ผู้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการแต่งกายด้วยสีดำก่อนใครเพื่อนคือควีนวิคตอเรีย ที่ทรงฉลองพระองค์สีดำตลอดช่วงชีวิตของพระนางหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตผู้เป็นพระสวามี ทรงเป็นผู้นำเทรนด์การแต่งกายด้วยสีดำล้วนก่อนบรรดาสาวๆในแวดวงเอเจนซี่โฆษณาจะลุกขึ้นมาแต่งดำกันจนเป็นยูนิฟอร์มของคนเก๋ในช่วงยุค 90s จนถึงทุกวันนี้ นั่นหมายความว่า การใช้สีดำเป็นการประกาศสเตทเม้นต์ของผู้สวมใส่ในทางหนึ่ง
สำหรับงานออกแบบ สีดำจัดว่าเป็นสีกลางที่จับคู่เข้าได้กับทุกสี ทำให้สีอื่นดูสว่างขึ้น แม้แต่สีในโทนเข้มก็สามารถอยู่กับสีดำได้ดี โดยเฉพาะเมื่อใช้เท็กซ์เจอร์เข้ามาช่วยสร้างความแตกต่างในอีกชั้นหนึ่ง สีดำยังเป็นแบ็คกราวด์ที่ดีให้กับวัตถุหรือชิ้นงานออกแบบอื่นใดให้ได้แสดงความโดดเด่นออกมา เป็นเหมือนดาราสมทบที่ช่วยขับเน้นให้ดารานำเป็นจุดสนใจทางสายตา ซึ่งในการใช้สีดำนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณแสง วัสดุ และเท็กซ์เจอร์ ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดมิติที่แตกต่างในงานออกแบบ หลายคนยึดติดกับความคิดเดิมๆ ที่ว่า สีดำทำให้พื้นที่ดูแคบและอึดอัด แต่หากนำมาใช้ในปริมาณสัดส่วนที่ลงตัวภายใต้แสงที่เหมาะสม ความอึดอัดและเย็นชาก็อาจจะกลายเป็นความรู้สึกใกล้ชิดและอบอุ่นได้
เราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้สีดำในการตกแต่งส่วนต่างๆ ของบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ สร้างเสน่ห์ และความดราม่าให้กับสเปซ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผนังสีดำเพื่อเป็นฉากหลังให้เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง และงานศิลปะโดดเด่นขึ้นมา, พื้นสีดำที่ให้ความโมเดิร์น เพิ่มมิติ และความหรูหราให้กับสเปซ หรือการใช้สีดำเพื่อสร้างกรอบและกำหนดพื้นที่ส่วนต่างๆ เช่น วงกบ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น การใช้สีดำในพื้นที่ต่างๆ นั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว แม้แต่ห้องนอน ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว ที่อาจจะไม่คุ้นเคยหรือเห็นกันบ่อยนัก ก็สามารถใช้สีดำได้ หากอยู่ในสัดส่วนและองค์ประกอบของงานงานดีไซน์ที่พอเหมาะ หากอยากตกแต่งด้วยสีดำ แต่ยังไม่ชัวร์ แนะนำให้เริ่มจากการค่อยๆ เติมของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์สีดำทีละชิ้นๆ ก่อน จนเริ่มมั่นใน แล้วหลังจากนั้นจะแต่งบ้านด้วยสีดำล้วนทั้งหมดก็ไม่ผิดอะไร เป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความกล้าหาญชาญชัย ซึ่งต้องเข้าใจและจัดสรรสัดส่วนและองค์ประกอบต่างๆ ให้ลงตัว ไม่ใช่เพียงแค่ “คิดไม่ออก บอกสีดำ”
Wachirapanee Whisky Markdee
Editor In Chief