Design
Stories Behind A Closet
แนวคิดของดีไซน์ที่ไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ ของ It’s “Happened To Be” A Closet
จากแฟชั่นแบรนด์ที่มีชื่อยาว แต่เป็นที่จดจำจับใจผู้คนอย่าง IT’S “HAPPENED TO BE” A CLOSET. ก่อร่าง สร้างแบรนด์ไปสู่ร้านอาหาร และเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวไลฟ์สไตล์ ซึ่งในปัจจุบัน ลูกค้าและผู้ติดตามแบรนด์รู้จัก เข้าใจ หมายรวมทุกแบรนด์ว่า อยู่ใน (เครือ) “อิส_แฮพ_เพ่น” เลาะเรื่อยไปจนโปรเจ็กต์ล่าสุด Road of Cinnamon ร้านขายของที่ระลึกซึ่งคัดสรรงานคราฟต์ชิ้นเด็ดจากทั่วไทยและบางชิ้นก็มาไกลไปถึงทั่วโลก ที่แตกยอดออกมาเป็นการฟอร์มทีมผู้ประกอบการร่วมย่านทรงวาด โดยมีย่าน “บันดาลใจ”
ท่ามกลางกลิ่นอายบางเบาของถนนทรงวาด ที่มีเค้าจากเครื่องเทศหลากชนิดผสานเคล้าไปกับบทสนทนากับพี่แจะ-ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ กว่า 20 ปีผ่านไป “อิส_แฮพ_เพ่น” เกิด เติบโต และต่อยอดงานดีไซน์และไลฟ์สไตล์ไปอย่างไรบ้าง Qoqoon ชวนไปติดตามกัน
IT'S "HAPPENED TO BE” A CLOSET. จุดเริ่มต้นจากยานแม่ ที่มาพร้อมชื่อ 22 อักษร
“ความบังเอิญ” อันเป็นต้นเรื่องของแบรนด์
ทำไมจึงต้องตั้งชื่อให้ยาวมาก?
ชื่อแบรนด์ ที่เป็น Typo ไม่มี Logo?
หลายคำถาม ได้รับการเฉลย และยังเป็นการย้อนทวนเวลาไปยังช่วงแรกเริ่มของ IT’S “HAPPENED TO BE” A CLOSET แฟชั่นแบรนด์โดยดีไซเนอร์ชาวไทย ผู้ออกแบบทุกสิ่ง ทั้งเสื้อผ้า รูปลักษณ์หน้าตา การจัดแต่งร้าน ไปจนถึงบรรยากาศ และบริการภายในร้าน ก่อนจะขยับขยายมาเป็นเครือ “อิส_แฮพ_เพ่น” ที่เป็นมากกว่าแฟชั่น เสิร์ฟมากกว่าเรื่องอาหารการกิน และบอกเล่า เข้าถึงไลฟ์สไตล์ และเข้าใจลูกค้าผู้บริโภคชนิดที่เรียกว่า ล้ำกว่ายุคสมัยอยู่เสมอ
“It’s “HAPPENED TO BE” a closet” เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดร้าน ให้เพื่อนไปหาแค่แผงในสยาม แต่เพื่อนกลับมาพร้อมกับร้านที่ต้องวางมัดจำเดี๋ยวนี้ เพราะไม่งั้นคนจะเอาไป” พี่แจะย้อนความถึงที่มาของร้านแรกที่สยามที่ได้มาแบบปุบปับ “แล้วชื่อก็เหมือนกัน สำหรับเราคือ “It’s “HAPPENED TO BE” a closet” คือบังเอิญเป็นตู้เสื้อผ้า เพราะไม่ได้ตั้งใจแต่เป็นร้านเสื้อ”
ร้านที่บังเอิญได้มาและบังเอิญชื่อยาวเกินกว่าใครเพื่อนในยุคนั้น มาจากแนวคิดที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของงานดีไซน์ที่พร่ำสอนสอนกันมาในสมัยนั้นว่า ชื่อแบรนด์ต้องแคทชี่ จดจำง่ายและไม่ยาวจนเกินไป แต่มันคือความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่ต้องการจะสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ ก็ในเมื่อทุกแบรนด์ตั้งชื่อสั้นกระชับกัน พี่แจะจึงเลือกชื่อที่ยาวขนาด 22 ตัวอักษร ซึ่งแรกๆหลายคนอาจจะจำชื่อเต็มๆไม่ได้ แต่ทุกคนจำแบรนด์ชื่อยาวๆที่สยาม และจำโลโก้ที่เป็น Typography ยาวเฟื้อยแทนที่จะใช้สัญลักษณ์นี้ได้แบบการจำเป็นภาพรวมในหัว ซึ่งเป็นการสร้างภาพจำแบบใหม่ที่ไม่เคยมีแบรนด์ไหนทำมาก่อน
Skill & Collage ทักษะและกระบวนการที่สั่งสม สู่งานสร้างสรรค์
“สกิล และ คอลลาจ” คือสิ่งที่พี่แจะพูดถึงเป็นหลักเมื่อพูดถึงงานดีไซน์ ถือเป็น 2 ส่วนผสมสำคัญในใจความหลักของทั้งสไตล์และกระบวนการการทำงานส่วนตัวที่มีในการทำงานทุกชิ้น และยังคงสั่งสมเพิ่มเติมผ่านการเรียนรู้มาตลอดการทำงานเกือบ 30 ปี จนกลายเป็นความลื่นไหลที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และทำให้ทุกงานที่ผ่านมือ มอบประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอยู่เสมอ
“การทำเสื้อของ ‘its HAPPENED’ พี่ว่ามันคล้ายการ collage สกิลพี่ไปทาง collage กับ handwork สังเกตดูเวลาตัวเองทำอะไรก็ตาม มันคือการ collage กับการใช้สกิลที่ตัวเองถนัด เหมือนเวลาที่ทำหนึ่งคอลเล็กชั่น มีเดนิม มีลูกไม้ และอาจจะมีเลื่อม มีปักมือ หรือจะมีสกรีนทับในหนึ่งเนื้องาน มันคือ collage skill เพราะฉะนั้นเวลาพี่ทำแบรนด์ เวลาสร้างแบรนด์ อารมณ์ก็จะคล้ายกัน สำหรับพี่ ‘Fox’ นี่ อาจจะเป็น denim ลูกไม้อาจจะเป็น ‘its HAPPENED’ เลื่อมนี่ก็อาจจะเป็น ‘Rabbit’ sparkling ขึ้นมา เป็นจุดเด่นเล็กๆ กระจายๆ สมมุตินะ แล้วพอพี่ทำ “อีกา” ก็อาจจะเป็นจุดที่พี่สกรีนลงบนผ้าอะไรอย่างนี้ พี่คิดว่ามันคล้ายๆ แบบนั้น”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมองไปรอบๆในแต่ละร้านเราจึงเห็นส่วนผสมมากมายที่ก่อร่างเป็นคาแรกเตอร์ของแต่ละแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม และหากจะให้นิยามถึงสไตล์ของแต่ละร้านก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปักหมุดลงไปว่าคืออะไร เพราะเกิดจากชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่างที่มาที่ถูกจับมาคอลลาจเข้าไว้อย่างลงตัวด้วยสกิลส่วนตัวล้วนๆ
The Expansion : From Fashion to Food จากเสื้อผ้า สู่อาหาร ต่อยอดแบรนดิ้งด้วยความสนใจเฉพาะตน
เพียงไม่กี่ปี ที่ IT’S “HAPPENED TO BE” A CLOSET. ในร้านตึกแถวหนึ่งห้อง กลางสยามสแควร์ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าที่มีดีไซน์ไม่เพียงไม่ซ้ำใคร (และยังไม่ซ้ำกันเองด้วย) ด้วยแนวทางการออกแบบและผลิตโดยการ collage กับ handwork ไม่ว่าจะแพทเทิร์น วัสดุหลัก อีกทั้งการประดับตกแต่ง เรียกได้ว่า หยิบมาแต่ละชิ้น ล้วนมีเอกลักษณ์ จากลูกค้าที่แวะเวียนมาซื้อเสื้อผ้า เริ่มมีฐานแฟนประจำ และเมื่อผู้เป็นดีไซเนอร์เอง เริ่มหยิบเอาความสนใจเฉพาะตัวคือเรื่องของอาหารเข้ามาผสมผสาน ทำให้แบรนด์ “its HAPPENED” ยิ่งมีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งยังเป็นก้าวแรกของธุรกิจแบรนด์อาหารที่ในภายหลังเติบโต แตกกอต่อยอดมาอีกมากมาย หลายต่อหลายแบรนด์ ภายใต้ลายเซ็นที่ชัดเจนของความเป็น Concept Store ในทุกเอาท์เล็ท
“ย้อนกลับไป เราสร้างแบรนด์ยังไง? เริ่มต้นจากการเป็นดีไซเนอร์เสื้อ คือ “its HAPPENED” แล้วตอนเราทำร้านเสื้อ มีคนในท้องตลาดที่ทำเสื้อเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่างเดียวเลยที่ง่ายที่สุด เราต้องเริ่มหยิบเรื่องที่สอง เอาความสนใจเฉพาะตัวเข้าไปใส่ ดีไซเนอร์คนนึงอาจจะสนใจตกแต่ง อีกคนนึงอาจจะสนใจการทำหนังสือ อีกคนนึงอาจจะสนใจอะไหล่ แต่เราเลือกอาหารอิตาเลี่ยน เรามีทำเล็บ เราทำสปา เราตัดผม เพราะตอนนั้นเราต้องการให้ร้านเสื้อของเรามันแตกต่าง เป็นร้านเสื้อที่มีอาหารและไลฟ์สไตล์ คล้ายๆกับการทำ concept store”
จากสกิลเฉพาะตัวควบรวมเข้ากับความสนใจ และการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำในต่างโจทย์ หลายสถานการณ์ จากร้านอาหารเล็กๆ แบบไฟน์ไดนิ่งเพียง 2 โต๊ะ ภายในร้านเสื้อผ้า มาจนถึงการเพิ่มสาขา เปิดร้านในห้าง และขยายไปจนถึงร้านขนาดกว่า 20 โต๊ะ ผ่านกาลเวลา และบทเรียนแห่งการลองผิดลองถูกมากมาย
“ร้านอาหารเล็กๆของเราที่นั่งได้อยู่สองโต๊ะ ทุกคน ณ moment นั้น ก็คิดว่าเราทำอยู่ตรงนั้น คิดแค่นั้น แต่พอทำร้านที่สอง เราเอาอิตาเลี่ยนไปด้วย คราวนี้ จากสองโต๊ะ กลายเป็นห้าโต๊ะที่ถนนข้าวสาร และพอย้ายจากข้าวสารไปอยู่ Emporium เริ่มกลายเป็นอาหารจริงจัง ถ้าสังเกตดีๆ จากโต๊ะเดียวไปจนถึงยี่สิบกว่าโต๊ะ เราใช้เวลานาน ค่อยๆ เดินทาง มองกลับไป ก็คล้ายเราเรียนหนังสือ จากร้านเสื้อไปเรียนต่ออาหาร แต่เราเรียนต่อด้วยตัวเราเอง คล้ายๆโฮมสคูล พอเรียนแล้ว ก็เริ่มลองผิดลองถูก แล้วก็เริ่มจริงจัง”
“อาหารพี่เริ่มที่ไฟน์ไดนิ่งก่อน (ที่ It’s Happened) แล้วมาโม (ดิฟาย) เป็นเดนิม กลายเป็น “Fox” ที่ก็ยังเป็นอิตาเลี่ยนอยู่แต่ casual ขึ้น แล้วก็ไปทำ “Rabbit” ซึ่งเรียกตัวเองว่า cake shop พี่คิดว่ามันเป็นเสน่ห์ของการทำคาเฟ่ แล้วทีนี้ พอทำ “อีกา” ก็มาเป็นอาหารไทย” โดยคอนเซ็ปต์ที่ว่า “จะเป็นคนขับตุ๊กตุ๊ก จะเป็นเรา หรือจะเป็นลูกค้าเรา ทุกคนกินรสเดียวกัน ต้มยำกุ้งก็มีรสเดียวที่ถูกต้อง”
Aesop’s Fables คอลเล็กชั่นชื่อร้าน และบรรดาสัตว์ในนิทานอีสป
การเดินทางของแบรนด์ร้านอาหาร แตกขยายออกไป ควบคู่ไปชื่อร้านยาวๆ ที่บอกเล่าคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน และมาพร้อมกับสัญลักษณ์สัตว์จากนิทานอีสป
“เราเรียนดีไซน์มา แล้วเรารู้วิธีการสร้างแบรนด์ ถ้าเราจะผูกเรื่องให้ทุกคนเข้าใจว่า เราสร้างเครือ เรา based on ยานแม่ คือ “its HAPPENED” พี่ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนชื่อร้านอาหาร ส่วน “its HAPPENED” เป็นยานแม่ที่มาจากเสื้อผ้า เวลาที่เราจะเริ่มลงแบรนด์เล็ก พี่จะเอาให้ง่ายที่สุด แล้วเป็นอีสปทั้งหมด”
มาดูกันซิ ว่าถึงตอนนี้มีร้านอะไรบ้าง?
“เมื่อสามสิบปีที่แล้ว เวลาตั้งชื่อ มันเป็นความตั้งใจที่ต้องการให้มันต่าง เพราะฉะนั้น ถ้าคน 90% เค้าใช้ชื่อที่จำง่าย ด้วยความที่ไม่มีสกิล ไม่มีประสบการณ์ ฉันจะตั้งให้มันยาก ตั้งใจไว้เลย ชื่อจะยาวมาก แล้วประสบการณ์ก็สอนเรา จากชื่อที่ยาวมาก เวลาพี่ตั้งชื่อแบรนด์ต่อไป พี่ตั้งง่ายมาก A Pink Rabbit, A Fox Princess แต่แอบมีนามสกุลที่ยาว ไม่เหมือนกัน เพิ่งมาบิดให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ‘A Pink Rabbit And Bob’ ทุกที่ แต่ก่อนมี ‘A Pink Rabbit Around JJ’ พี่จะมีความคิดแบบนั้น แต่บางความคิดพอลงรายละเอียด ด้วยประสบการณ์แล้ว ก็กลับมาให้มันอันเดียวกันดีกว่า เข้าใจง่าย”
Vibe That Works บรรยากาศและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่างานออกแบบของพี่แจะก็เหมือนกับการทำคอลลาจที่ใช้สกิลส่วนตัว หน้าตาและบรรยากาศของแต่ละร้านจึงให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปตามคอนเซ็ปต์ของ ‘โปรดักต์’ ในแต่ละร้าน เริ่มตั้งแต่งานอินทีเรีย งานตกแต่ง ไปจนถึงการดิสเพลย์และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ
“ถ้าพูดถึง ‘its HAPPENED’ จะดูเกอร์ลี่ ดูฮิปปี้ แต่พอมาทำ ‘Fox’ เราต้องการให้ลูกค้าเข้าใจง่ายขึ้น มันจะออกบอยหน่อย มันจะไม่ฮิปปี้ มันจะไม่กระจายมาก มันจะมีจุดสิ้นสุดมีจุดจบที่ชัดเจน โต๊ะ เก้าอี้ อะไรมันจะดู solid ขึ้น จามชาช้อนส้อมอะไรไม่กรุยกราย แล้วพอมาเป็น “อีกา” มันก็จะออกไทยขึ้น เช่น มีจานสังกะสี มีจานกระเบื้องไซส์ไทย ใช้แก้วก้นจีบในการเสิร์ฟน้ำ”
และแม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดของการแตกแต่งที่ให้ Vibe ต่างกันไปตามคอนเซ็ปต์ แต่ด้วยความที่มีต้นกำเนิดมาจากยานแม่เดียวกัน เราจึงไม่แปลกใจเมื่อเดินเข้าร้านสักร้านหนึ่งแบบไม่ต้องดูป้าย แล้วจะรับรู้ได้ในทันทีว่านี่คือลูกที่มาจากแม่เดียวกัน เพราะลายเซ็นต์นั้นชัดเจนเหลือเกิน
Brand Communication การสื่อสารแบบ “อิส_แฮพ_เพ่น”
เมื่อมีหลายแบรนด์ในมือ มีหลายเรื่องอยากเล่า การเลือกช่องทางและแนวทางในการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลมีมากมาย และโลกแห่งการสื่อสารปรับเปลี่ยนกันไวไม่น้อย การเลือกใช้ช่องทางที่เป็นปัจจุบันอย่างเท่าทัน จึงเป็นกุญแจสำคัญ
“หลักๆ เรา communicate กับลูกค้าของเราผ่าน IG กับ Line Official แค่สองแชนแนล เราต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะทาง ตอนนี้เราเชื่ออะไร อะไรที่เราคิดอยู่ จะให้คนเชื่อเราต้องอธิบาย ไม่มีใครเข้าใจได้ชัดหรอกถ้าไม่อธิบาย ถ้าไม่พูดอะไรเลย ใครจะรู้ และเราพยายามอธิบายโดยใช้แชนแนลที่เป็นปัจจุบัน เราไม่คิดแชนแนลขึ้นมาเอง คนฟังเค้าอยู่ตรงนั้น เราต้องไปตามอธิบายกับคนของเราในที่ที่เค้าไป” ซึ่งก์คือแพลตฟอร์มออนไลน์ในปัจจุบันนั่นเอง
Road of Cinnamon ร้านขายของที่ระลึกประจำย่าน และจักรวาลงาน Craft ที่กระทบใจ
จากส่วนผสมระหว่างสกิลและความสนใจเฉพาะตัว ขยับขยายไปในทุกธุรกิจ จากการมาทำร้าน อี-กา บนถนนทรงวาด จนเป็นสะพานเชื่อมต่อความตั้งใจที่จะซัพพอร์ทในงาน Craft ไทย ที่มากกว่าเพียงความชื่นชม แต่มีจุดประสงค์ในการนำเสนอให้คนเข้าถึงได้ จับจ่ายได้ และยังเห็นภาพการนำไปใช้ได้จริง จึงเป็นจุดกำเนิดของ Road of Cinnamon ที่มีแรงบันดาลใจมาจากย่าน (ทรงวาด) และการสร้างย่าน ผ่านการทำงานร่วมกันของทีมผู้ประกอบการในย่านทรงวาด 3 คน ได้แก่ พี่แจะ-ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล จาก อี-กา และ a)pink RABBIT+bob พี่โต๊ะ-สุวรรณี เจริญเลิศทวี จากเจริญเลิศทวี (กิจการขายอาหารแห้ง) และคุณกอล์ฟ-พลัฏฐ์ นิธิพิพิธชัย จากร้านโรงกลั่นเนื้อ และ Songwat Coffee Roaster ด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดจากการทำงานในชุมชนร่วมกัน
“Road of Cinnamon มีแรงบันดาลใจมาจากย่าน และการสร้างย่าน เป็นเจตนาที่อยากทำให้ย่านกับเจตนารวมกลุ่มกับคนอื่น เพราะในย่านเราขาดร้านขายของที่ระลึก โดยโจทย์ที่เราคิดไว้ ไม่ได้ต้องการชาวต่างชาติอย่างเดียว เราต้องการขายให้คนไทย ซึ่งจริงๆ แล้วคนไทยหลายคนรักของไทยนะ แต่ไม่รู้จะซื้อยังไง แล้วเชื่อไหม เด็กๆ คนไทยมาเนี่ย แค่เค้าซื้อจานกันคนละใบก็ตอบโจทย์พี่แล้ว ขอให้เข้ามาแล้วได้ของออกไปคนละชิ้น แล้วหนึ่งในชิ้นที่เอาไปขอให้มีคนไทยด้วย แล้วเธอกลับไปชื่นชมนะ ประเทศเธอทำแบบนี้ แต่เธอจะชื่นชมได้ต่อเมื่อ ฉันไม่ขูดรีดเธอเกินไป”
“เรามาตั้ง craftman shop เราเป็น curator เพราะว่าเราเป็นสะพาน จากเสื้อผ้าไปอาหาร สู่ craftmanship shop เป็นไลฟ์สไตล์ อยากซัพพอร์ตชาวบ้านเรื่อง craft เราจะซัพพอร์ตเรื่องการขาย เราทำของเรา แต่อยากให้ไปต่อจิ๊กซอว์กับสิ่งที่รัฐบาลทำไว้ อยากเป็นหนึ่งส่วนที่ช่วยเค้า execute ว่า งานของชาวบ้าน ถ้าวางแบบนี้มันจึงจะขายได้ แล้วเราก็พยายามขายราคาเดียวกับแหล่งผลิต”
เมื่อถามถึงเรื่องของงานคราฟต์ พี่แจะให้ข้อคิดที่น่าสนใจไว้ว่า “พี่ว่าคนเข้าใจผิด คิดว่า การทำมือคือคราฟต์ซะหมด คือแฮนด์เมดซะหมด พี่บอกว่ามันคือแฮนด์เมด แต่ถ้าว่ามันจะเป็นแฮนด์เมดที่เป็นงานคราฟต์ก็ต่อเมื่อ หลังจากแฮนด์เมดเสร็จ งานจบมา มันต่อยต่อมเราหรือเปล่า อย่างเก้าอี้บางตัวทำจากมือก็จริง แต่มันไม่ได้ต่อยต่อมเรา”
“มันเป็น personal อยู่ที่การตีความว่าเราจะเอาคราฟต์แค่ไหน ไปไกลแค่ไหน เฟอร์นิเจอร์ก็คราฟต์ อินเดียก็คราฟต์ อินโดนีเซียก็คราฟต์ ฝรั่งเศสก็คราฟต์ ไทยก็คราฟต์ แต่เราเลือกที่จะเอาไทยมา 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะท้ายที่สุด เราต้องการให้คราฟต์ทั้งหมดของที่เป็นของต่างชาติมาซัพพอร์ตว่า ถ้าเอาแชนเดอเลียร์ของฝรั่งเศสมาอยู่กับหุ่นกระบอกเมืองไทย มันอยู่กันได้ แค่ต้องจัดองค์ประกอบให้โอเค แล้วที่มีกาแฟ เพราะว่าในบ้านเราก็ไม่ควรมีแต่หุ่นกระบอก ในบ้านเราก็ต้องมีเก้าอี้ เครื่องชงกาแฟ มีจานชาม อย่างงี้มันถึงจะเป็นไลฟ์สไตล์ พยายามสร้างกรอบให้มันไกลที่สุด
ตั้งแต่ที่ “its HAPPENED” แล้ว ถ้าใครที่ตามๆกันมา จะเห็นว่าสินค้าในหลายๆหมวดเราเคยลองขายมาหมดแล้ว จานชามเราก็ขายแล้ว ผ้าชิโบริเราก็เคยขายแล้ว แต่ (ตอนนั้น) เราไม่ใช่ร้านขายของประเภทนี้ แชนเดอเลียร์ก็เคยขายแล้ว มันเป็นความสนใจที่เกิดขึ้นมาก่อน ติดตัวมานาน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเอาความสนใจเรามาทำธุรกิจ เราจึงมีแฟนคลับที่ตามเรา แต่ถ้าเราไม่แน่น พี่ไม่คิดว่าจะมีคนตาม เพราะบางทีแฟนคลับอาจจะเก่งกว่าเรา”
Being Designer ดีไซน์ในทุกรายละเอียด
บ่อยครั้ง เวลาผู้คนสัมผัสกับผลงานใดสักชิ้นของ “นักออกแบบ” ที่เรียกว่า “ดีไซเนอร์” คนจำนวนไม่น้อย รับรู้ผ่านสภาวะที่สมบูรณ์แบบของผลงานชิ้นนั้นๆ แต่แท้จริงแล้ว เนื้องานของดีไซเนอร์ควบรวมผสานไปกับทีมอยู่ในทุกขั้นตอน ดังเช่นทุก “โปรดักต์” ภายใต้เครือ “อิส_แฮพ_เพ่น” จากแฟชั่นเสื้อผ้า แบรนด์ร้านอาหาร รสชาติ รูปลักษณ์ ไอเดียการจัดเสิร์ฟ บรรยากาศการจัดตกแต่ง และอีกสารพัด ที่จับใจความการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ทำอย่างเข้าใจลูกค้า ขณะเดียวกันคือ มีความเป็น Concept Store อยู่ในตัว และมอบ “ประสบการณ์ที่แตกต่างแบบ “อิส_แฮพ_เพ่น” ซึ่งทุกรายละเอียดเป็นดังผลงานคอลลาจชิ้นแล้วชิ้นเล่า ที่เกิดจากการดีไซน์โดยพี่แจะมาตลอด 30 ปี
“พี่ว่าอาชีพในบริษัท พี่มีอาชีพเดียว คือเป็นคนดีไซน์โปรดักต์ เพราะฉะนั้น พี่จะดีไซน์หน้าตาอาหาร แล้วเชฟ execute รสชาติ อย่างสมมุติว่า ถ้าเป็นอาหารฝรั่ง พี่อ่านหนังสือ ให้เชฟฝั่งฝรั่งช่วยค้นคว้า แต่พี่ทำกับข้าวไม่เป็น เพราะฉะนั้นเชฟจะทำออกมา หน้าที่พี่คือจับออกมาเป็นดีไซน์ เชฟเบเกอรี่จะใช้วิธีเดียวกัน บอกสูตรแต่เค้าจะต้อง blend สูตรตัวเอง ทำสามสี่รอบ แล้วพอทำออกมา หน้าตายังไม่เต้องคิด ให้ชิมเนื้อก่อน เสร็จแล้วพอหลังจากนั้นพี่วาดรูปเลย พี่วาดเลยว่าเอาแบบนี้”
ไม่ใช่แค่การออกแบบเสื้อผ้าหรือตกแต่งร้าน แต่การทดลองชิม ปรับแต่ง และออกแบบหน้าตาอาหาร ก็สามารถเรียกว่า ‘ดีไซเนอร์’ ได้ พี่แจะยังทำหน้าที่ดีไซน์จนจบ
“งานในร้านของพี่จะเป็นงานดีไซน์อย่างเดียว ไม่มีผู้ช่วยด้วย แต่พี่อาจจะทำ collaboration นะ เช่น ถ้าเป็น CI พี่ทำงานกับคนที่เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์จากที่อื่นที่ไม่ใช่คนในบริษัท หรือถ้าพี่อยากจะทำดีไซน์จาน พี่วาดเสร็จแล้วบริษัทจานมีคนที่ทำจานเก่ง พี่ก็ collab กับเขา แต่พี่วาดไปให้”
ดูเหมือนว่าในทุกส่วนของแทบจะทุกร้านในเครือล้วนมาจากไอเดียและการออกแบบของพี่แจะแทบทั้งนั้น ตั้งแต่เสื้อผ้า การตกแต่งร้าน ไปจนถึงหน้าตาอาหาร และ vibe ภายในร้านทั้งหมด
“พี่เป็นดีไซเนอร์ในทุกๆจุด และเป็นอาชีพเดียวในเครือ ที่พี่ทำหนักที่สุดก็คือเรื่องดีไซน์”
Story: Sujittra Chanchaicharoengul, Wachirapanee Markdee
Photos: Pitawat Jarunpong