Design
Decor Trends 2023-2024 And What’s Next
แต่เอาเข้าจริงเทรนด์การตกแต่งมันมีความย้อนแย้งอยู่ในที เพราะงานตกแต่งหรืออินทีเรีย ไม่ใช่อะไรที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนกันได้ง่ายๆแบบซีซั่นต่อซีซั่นอย่างเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้า พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน เฟอร์นิเจอร์ มีความซับซ้อน มากกระบวนการ และราคาสูงเกินกว่าจะเปลี่ยนกันได้บ่อยๆ เวลาออกแบบพื้นที่ การเลือกเครื่องใช้ ของตกแต่งต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าที่ต้องอยู่กับสิ่งเหล่านั้นไปให้ได้นานๆ
อย่างไรก็ตาม งานตกแต่งและงานดีไซน์ก็มีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง มีการเปลี่ยนผ่านของสไตล์ลื่นไหลไปตามกาลเวลา การจัดสรรพื้นที่และใส่สไตล์ลงไปช่วยสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่และบ่งบอกบุคลิกของเจ้าของและผู้อยู่อาศัย การศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของเทรนด์ จะช่วยให้เราได้อยู่กับสเปซและข้าวของเหล่านั้นไปได้อีกหลายฤดูกาล โดยที่ไม่รู้สึกว่าล้าสมัยและน่าเบื่อ
เพื่อที่จะรวบรวมเทรนด์ต่างๆ และแสดงให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เป็นอยู่ไปจนถึงแนวโน้มที่กำลังจะมาถึง QoQoon สอบถามผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานอยู่ในแวดวงดีไซน์ อินทีเรีย และสื่อ เพื่อหาคำตอบของฤดูกาลใหม่ในปีนี้ ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าอะไรบ้างที่เป็นเทรนด์การตกแต่งกระแสหลักอยู่ในขณะนี้
What’s Now
อัครรัฐ วรรณรัตน์ ผู้บริหารของ MOTIF ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านชั้นนำ ได้ให้ข้อสังเกตว่า “งานดีไซน์ ต่างจาก Art ตรงที่ ดีไซน์จะตอบโจทย์ในเรื่องของ ฟังก์ชั่น อย่างที่เห็นในงาน Milan Design Week 2023 เทรนด์จะไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก
ทางด้านภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ ดีไซน์ไดเร็กเตอร์แห่ง Dot Line Plane Company ได้แจกแจงเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ว่าประกอบไปด้วย
Minimalism – แบบมินิมัลจริงๆ แบบที่มีของน้อยชิ้น เท่าที่จำเป็น สะอาด เป็นระเบียบ งามแบบเรียบง่ายด้วยสัจจะวัสดุ
Mid Century – ยังคงเป็นสไต์ที่อินอยู่เสมอ ด้วยความเก่าที่ยังดูร่วมสมัยตลอด
Fantasy – ตกแต่งอย่างใจอยาก เสมือนอยู่ในความฝันของตน บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่เพื่อพักผ่อนเท่านั้น แต่เป็นที่ที่รวมทุกสิ่งที่ตอบสนองความอยากในทุกๆด้าน ห้องแต่ละห้องอาจจะไม่เหมือนกันเลย ต่างสไตล์ไปตามอารมณ์ที่อยากให้เกิด บ้านเหมือนบาร์ บ้านเหมือนคาเฟ่ บ้านเหมือนฉากละคร ไม่มีอะไรเกินเลยอีกต่อไป
Memphis & Brutalism – ความแปลกของสัดส่วน การตัดกันของสีสัน ความกราฟิก ความเด๋อด๋าของงานดีไซน์ ที่รวมกับความดิบแบบขั้นสุด อย่างการเปลือยผนังและโครงสร้าง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
แนวคิดเรื่องการกลับมาของ Brutalism นี้สอดคล้องกับทาง VMA Design Studio ของสองคู่หู วิชยุตม์ มีนะพันธ์ และปีรวิน สวัสดิ์ธนวณิชย์ ที่กล่าวว่า “หนึ่งในเทรนด์สำคัญที่เราพบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การกลับมาของ eco-brutalism โดยเฉพาะในบริบทของ biophilic design ซึ่งคือการโฟกัสที่เนื้อแท้และความงามตามธรรมชาติของตัววัสดุ เทรนด์นี้ยังเน้นการผสมผสานธรรมชาติเข้าสู่สิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน และสร้างความสัมพันธ์ที่กลมกลืนกันระหว่างผู้คนและธรรมชาติ Biophilic design ยังช่วยสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ทำให้เกิด productivity และการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ
ที่มาของเทรนด์นี้มีหลายแง่มุม ทั้งในเรื่องโรคระบาดที่เป็นตัวเร่งให้ผู้คนทบทวนการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตและใฝ่หาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นความยั่งยืนก็มีแนวโน้มที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ คนจึงตามหาหนทางที่จะหลอมรวมองค์ประกอบต่างๆ ของธรรมชาติเข้าสู่ชีวิต และในขณะเดียวกันก็เปิดรับวิธีการต่างๆ ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดีไซน์เนอร์จึงหยิบเทรนด์นี้มาใช้โดยผนวกต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเข้าสู่คอนเซ็ปต์ อาคารต่างๆ ถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างธรรมชาติและสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่เพียงแค่เพิ่มความงาม หากยังเพิ่มคุณภาพของอากาศ ลดอุณหภูมิและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย”
วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Norse Republics ให้ความเห็นในเรื่องของความยั่งยืนนี้ว่า “ในโลกของงานดีไซน์ เทรนด์ตอนนี้ที่เป็นที่พูดถึงกันมากๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของ sustainability เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่ทุกๆคนประสบ ซึ่งในโลกของงานดีไซน์นั้นได้มีการรณรงค์ และปรับตัวกันมาสักพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทหรือแบรนด์ที่เป็นคู่ค้าของเรา (Norse) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศทางแถบสแกนดิเนเวีย ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้มาโดยตลอด” ซึ่งคุณวีกฤษณ์ให้ความเห็นอีกว่า “ผู้บริโภคจะมีสติรู้ตัวและตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้น อาจจะไม่เพียงแค่ความชอบเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ ต้นตอของผลิตภัณฑ์ คุณภาพและการใช้งานที่ยาวนาน โดยไม่ก่อให้เกิด waste ผมยังเคยได้ยินลูกค้าบางคน บอกว่าเวลาซื้อของจะดูที่ vision ของบริษัทนั้นๆด้วย ว่าให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร”
วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Norse Republics ให้ความเห็นในเรื่องของความยั่งยืนนี้ว่า “ในโลกของงานดีไซน์ เทรนด์ตอนนี้ที่เป็นที่พูดถึงกันมากๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของ sustainability เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่ทุกๆคนประสบ ซึ่งในโลกของงานดีไซน์นั้นได้มีการรณรงค์ และปรับตัวกันมาสักพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทหรือแบรนด์ที่เป็นคู่ค้าของเรา (Norse) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศทางแถบสแกนดิเนเวีย ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้มาโดยตลอด”
ทางด้านสายสื่ออย่าง พลอย จริยะเวช นักเขียนคนดัง เจ้าของบทความและพ็อกเก็ตบุ๊กเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ขายดีหลายเล่ม สรุปภาพรวมให้เราฟังคร่าวๆว่า เทรนด์ของงานออกแบบในตอนนี้คือความสดใหม่ที่มีลักษณะ Timeless จากผลของการคิดที่ชัดเจน บวกกับทักษะเฉพาะของนักออกแบบที่สามารถสร้างพลังพิเศษให้งานเครื่องเรือนเครื่องใช้ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์และการใช้ชีวิตของผู้คนได้ง่าย เป็นมิตร อบอุ่น มีชีวิตชีวา อย่างความ craft อยู่ในกระแสตลอด
New Dawn
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้นับว่าสังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยปัจจัยที่เกิดใหม่หลายอย่าง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โรคระบาด และการมาถึงของโลกดิจิตัล ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อแนวโน้มของเทรนด์การออกแบบแทบทั้งสิ้น คุณพลอยให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “คิดว่าปัจจัยเกิดใหม่หลายอย่างทำให้คนมีความชัดเจนมากขึ้นในตัวตน ตระหนักซึ้งถึงสิ่งสำคัญในชีวิต และ passion ที่แท้ ฯลฯ บ้านจึงเป็นพื้นที่ที่มีความชัดเจนขึ้นเช่นกันในแง่ของการทำหน้าที่สร้างความมั่นคง ปลอดภัย อุ่นใจ heal เพิ่มพลังในการใช้ชีวิตให้มนุษย์ ที่เอาเข้าจริงต้องการและเห็นคุณค่าของปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น อย่างอากาศสะอาด แสงธรรมชาติที่เข้ามา นำมาซึ่งการสร้างความสงบภายในใจ สบายกายในพื้นที่ที่ตนควบคุมได้กว่าโลกภายนอก หากเทรนด์การออกแบบสนับสนุนการสร้าง vibe สร้าง flow แบบนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้คนจะรับมาเป็นส่วนผสมหนึ่งในการใช้ชีวิต”
ในส่วนของ Design Industry นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ในเชิงของเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีพื้นที่สำหรับไอเดียใหม่ๆ และนักออกแบบหน้าใหม่เกิดขึ้นมามากขึ้น ประกอบกับแรงบันดาลใจของทั้งผู้บริโภคและนักออกแบบที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แบรนด์เล็กๆใหม่ๆ สามารถเติบโตได้มากขึ้นหากมีไอเดียใหม่ๆ ที่ตอบสนองกับไลฟสไตล์แบบใหม่ได้ดี แต่ในทางกลับกัน แบรนด์ใหญ่ๆ ดั้งเดิมอาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากกว่าแบรนด์เล็ก หากถ้าไม่สามารถปรับเปลี่ยนตามเทรนด์ และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ได้” คุณอัครรัฐ แห่ง Motif ได้ให้ความเห็นถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมออกแบบหลังสถานการณ์โควิดไว้ได้อย่างน่าสนใจ
แม้จะมีหลายคนพยายามวิ่งตามกระแสเพื่อไม่ให้งานของตัวเองหลุดจากเทรนด์ ดีไซเนอร์บางคนก็ยังคงยึดแนวทางและสไตล์การออกแบบเฉพาะตัวเป็นหลัก อย่างเช่น วิชดา สีตกะลิน อินทีเรียดีไซเนอร์และสไตลิสต์ผู้เน้นความคลาสสิกและร่วมสมัยในงานออกแบบของตัวเอง
Him Gong Boutique, Raya Heritage, Chaingmai
“จริงๆโดยส่วนตัวเวลาทำงานจะไม่ได้ติดตามเทรนด์ค่ะ จะใช้ความรู้สึกและความเหมาะสมเป็นหลัก เวลาทำงานดีไซน์ก็ขึ้นอยู่กับ requirement ของโปรเจ็คนั้นๆ ว่าแนวทางการออกแบบ, การใช้งานและการตกแต่งจะเป็นไปในแนวไหน ซึ่งส่วนตัวชอบที่จะทำงานที่หลากหลาย ชอบที่จะ mix & matchในเรื่องของวัสดุ, texture หรือแม้กระทั่งของเก่าและของใหม่เพื่อสร้างบุคลิกให้กับพื้นที่นั้นๆค่ะ และรู้สึกว่าการออกแบบที่ดี ต้องอยู่เหนือกาลเวลา จึงไม่ได้ตามเทรนด์ใดๆค่ะ”
The Age of AI
“การเข้ามาของ AI ก็อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระในการออกแบบของดีไซน์เนอร์ต่างๆได้ จึงมีคำถามว่าถ้าเช่นนั้นทุกคนที่สามารถเข้าถึง AI ก็สามารถเป็นดีไซเนอร์ทั้งหมดได้ใช่ไหม ซึ่งจริงๆแล้วผมมองว่างานดีไซน์ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว คนที่เป็นดีไซเนอร์จะมีความสามารถในเรื่องของ creativity, การแก้ปัญหาต่างๆ และเรื่องของ emotional aspect ที่ผมเชื่อว่า AI ไม่น่าจะสามารถทดแทนได้ครับ” -วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Norse Republics
“วิวัฒนาการนี้บีบบังคับให้ดีไซเนอร์จะต้องปรับตัว ต้องเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจการใช้เครื่องมือใหม่ๆ รวมทั้งอัลกอริทึมต่างๆ ในอดีตเมื่อตอนที่ CAD เข้ามาปรับรูปโฉมวงการนั้นได้เกิดข้อกังขามากมายว่ามันจะสามารถแทนที่การออกแบบในแบบดั้งเดิมได้จริงๆ หรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้เครื่องมือดิจิตอลได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่วงการออกแบบขาดไม่ได้ และเรื่องราวของ AI ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน AI ทำให้เกิด learning curve ครั้งใหญ่หลวงแต่สิ่งตอบแทนที่จะได้รับนั้นก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน
ด้วยก้าวย่างของ AI และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเราจึงน่าจะได้เห็นการผสมผสานการใช้ Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) เข้าสู่ชีวิตประจำวันกลายมาเป็นกระแสเทรนด์สำคัญ เรากำลังมุ่งไปสู่อนาคตที่ทั้งโลกจริงและโลกเสมือนจะผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน สเปซ 1 สเปซจะสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ได้โดยใช้เทคโนโลยี AR แทนที่จะติดอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่แบบเดิมๆ เราสามารถ customise สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้ภายในคลิกๆ เดียว กระบวนการออกแบบจึงจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ เราอาจจะต้องเพิ่มมิติใหม่ในการทำงานโดยที่ไม่เพียงแต่ดีไซน์แค่โลกจริง แต่ต้องดีไซน์โลกเสมือนอีกด้วย” -VMA
ท้ายที่สุด ไม่ว่าเทรนด์จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างไร เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะก้าวเข้ามามีบทบาทขนาดไหน รสนิยม ความชอบส่วนตัว ที่เลือกหยิบจับชิ้นงานต่างๆมาสร้างเป็นสไตล์ส่วนตัวที่ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิต สะท้อนบุคลิกและตัวตนของทั้งผู้ออกแบบและผู้เป็นเจ้าของต่างหากที่ตอบโจทย์สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
Photos: Courtesy of Motif, Dolce & Gabbana Casa, Dot Line Plane Company Limited, Norse Republics