Design
Furniture As Art
ถ้าคุณแต่งบ้านมาถึงระดับที่มีข้าวของพร้อมเข้าอยู่ครบครัน แต่หันมองรอบๆแล้วก็ยังรู้สึกว่าขาดอะไรไปบางอย่าง อาจเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ว่านั้นคือ “ศิลปะ”
งานศิลปะ (artwork) ไม่เพียงตกแต่งให้บ้านสวยงามขึ้นเท่านั้น แต่มันยังช่วยสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ แสดงถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัย และอาจเป็นจุดรวมสายตาที่เติมเต็มให้การตกแต่งบ้านสมบูรณ์ แต่… จำเป็นหรือไม่ที่ศิลปะที่ว่าต้องเป็นผลงานจำพวกจิตรกรรม ประติมากรรม หรืองานศิลปะในนิยามเดิมๆ หรืออาร์ตจ๋าๆ เพียงอย่างเดียว คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะหลายครั้ง เฟอร์นิเจอร์ดีๆ สักชิ้นก็เป็นศิลปะให้กับบ้านได้เช่นกัน
ถ้าคุณกำลังคิดสงสัยว่า อ้าว เฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะ เก้าอี้ เนี่ยน่ะเหรอที่จะเทียบเท่างานศิลปะ? แล้วนิยามศิลปะคืออะไร? เราคงต้องบอกว่าอย่าเสียเวลาคิดเรื่องอะไรพวกนั้นเลย เอาเป็นว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน -เฟอร์นิเจอร์ก็เหมือนกับงานออกแบบแขนงอื่นๆ ที่มีความคาบเกี่ยวกับศิลปะและรุกล้ำข้ามอาณาเขตกันไปมา ถ้ามองย้อนไปในอดีต เราจะเห็นว่าความเคลื่อนไหวทางศิลปะ (art movement) หลายยุคสมัย ล้วนส่งอิทธิพลต่องานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และศิลปินหลายคนก็เคยสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์ใช้สอยหลายชิ้นก็มีสุนทรียะไม่ต่างอะไรจากงานศิลปะ
ใน QoQoon ฉบับ Art Issue นี้ เราจะพาคุณย้อนไปดูความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างศิลปะและงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ (บางส่วน) ที่มีมาในอดีต ซึ่งส่งอิทธิพลต่อเทรนด์และการตลาดของเฟอร์นิเจอร์มาจนถึงปัจจุบัน
Bauhaus มูฟเมนต์ที่เป็นจุดกำเนิดของเฟอร์นิเจอร์ระดับตำนาน
อย่างที่บอกไปว่า art movement หลายยุคหลายสมัยมีอิทธิพลต่อการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะยุคอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ที่ส่งเส้นสายโค้งเว้าอ่อนช้อย รูปทรงและลวดลายตามธรรมชาติ เช่น เถาวัลย์ ดอกไม้ ฯลฯ ไปปรากฏอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ และศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่ทุกวันนี้เราก็ยังคงเห็นอิทธิพลของมันผ่านสไตล์หรูเรียบที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตและวัสดุเรียบเนียนแวววาวในเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นความหรูหราทันสมัย
แต่ในจำนวน art movement ทั้งหมด Bauhaus ดูจะเป็นมูฟเมนต์ที่ควรค่าแก่การพูดถึงมากที่สุด เพราะถึงแม้ Bauhaus จะถูกจัดเป็นความเคลื่อนไหวทางการออกแบบมากกว่าศิลปะ แต่แนวคิดหลักของ Bauhaus คือการรวมเอาศิลปะ งานออกแบบ งานฝีมือ และเทคโนโลยี เข้าไว้ด้วยกัน ดูได้จากการที่ Bauhaus ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนศิลปะ (art school) ที่สอนให้นักเรียนเรียนรู้วิชาหลากหลายแขนง ทั้งศิลปะ งานออกแบบ และงานฝีมือ ที่สำคัญมูฟเมนต์ของ Bauhaus ที่มีอายุเพียงแค่ 14 ปี กลับสามารถสร้างรากฐานและอิทธิพลมาถึงงานออกแบบหลากหลายประเภทได้จนกระทั่งทุกวันนี้
โรงเรียนศิลปะของ Bauhaus ก่อตั้งโดย Walter Gropius ในเมือง Weimar ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1919 ซึ่งนับเป็นเวลาเพียงแค่ 6 เดือน หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ผลจากสงครามทิ้งความเสียหายไว้ให้เยอรมนีอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นจึงเกิดแนวคิดการสร้างและฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่โดยกลุ่มคนผู้รักชาติจำนวนหนึ่ง ซึ่ง Bauhaus ที่แปลว่า “สร้างบ้าน” ก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากแนวคิดหลักในการรวบรวมศิลปะและดีไซน์ทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ศิลปินและนักออกแบบ Bauhaus ยังเน้นเรื่องประโยชน์การใช้สอย เพื่อให้งานออกแบบของพวกเขาสามารถรับใช้ผู้คน มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า
นี่จึงเป็นที่มาของงานออกแบบที่เน้นการใช้เส้นสายเรียบง่าย รูปทรงเรขาคณิต และลดทอนองค์ประกอบการตกแต่งให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
โรงเรียนศิลปะของ Bauhaus ก่อตั้งโดย Walter Gropius ในเมือง Weimar ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1919 ซึ่งนับเป็นเวลาเพียงแค่ 6 เดือน หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ผลจากสงครามทิ้งความเสียหายไว้ให้เยอรมนีอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นจึงเกิดแนวคิดการสร้างและฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่โดยกลุ่มคนผู้รักชาติจำนวนหนึ่ง ซึ่ง Bauhaus ที่แปลว่า “สร้างบ้าน” ก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากแนวคิดหลักในการรวบรวมศิลปะและดีไซน์ทุกแขนงเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ศิลปินและนักออกแบบ Bauhaus ยังเน้นเรื่องประโยชน์การใช้สอย เพื่อให้งานออกแบบของพวกเขาสามารถรับใช้ผู้คน มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า
นี่จึงเป็นที่มาของงานออกแบบที่เน้นการใช้เส้นสายเรียบง่าย รูปทรงเรขาคณิต และลดทอนองค์ประกอบการตกแต่งให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
เฟอร์นิเจอร์ Bauhaus ที่โดดเด่น เช่น ‘Wassily Chair’ (1925) โดย Marcel Breuer ที่ออกแบบเก้าอี้ตัวนี้ตั้งแต่เมื่อเขายังเรียนอยู่ที่โรงเรียนศิลปะ Bauhaus เก้าอี้ Wassily ได้รับการจำกัดความว่า “กลั่นเอาแก่นของเก้าอี้” ออกมาจนเหลือเพียงองค์ประกอบรูปทรงที่จำเป็นเท่านั้น นั่นคือ โครงที่ทำจากท่อเหล็กกลม (ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงจักรยาน) และผืนหนังที่ทำเป็นที่นั่ง พนัก และที่วางแขน
เฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นจากยุคของ Bauhaus ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ ‘Barcelona Chair’ (1929) ผลงานการออกแบบของสถาปนิกเยอรมันชื่อดัง Ludwig Mies van der Rohe และนักออกแบบ Lilly Reich จุดเด่นของ Barcelona Chair อยู่ที่ขาเก้าอี้ที่ถูกออกแบบให้คล้ายกับขาของเก้าอี้พับ (คือเป็นรูปทรงไขว้กันแบบตัว X) โดยนักออกแบบทั้งสองน่าจะได้ไอเดียมาจาก Curule Chair เก้าอี้เก่าแก่สำหรับชนชั้นสูงจากยุคโรมัน (นับว่าคอนเซ็ปต์ไปได้ดีกับจุดประสงค์ของเก้าอี้ที่ออกแบบให้ราชวงศ์สเปนที่เสด็จมาเปิดงาน International Exposition ปี 1929 ได้ใช้เป็นที่ประทับในพาวิลเลียนของเยอรมนี) ส่วนที่นั่งและพนัก เป็นงานบุหนังที่เห็นกันว่ารูปลักษณ์ออกมาเรียบง่ายออกแนวอุตสาหกรรมเช่นนี้ แต่ในกระบวนการผลิตนั้นคราฟต์มากทีเดียว
ความน้อยและเรียบง่ายของ Bauhaus นั้น เหมือนกับงานออกแบบของ Minimalism เพียงแต่จุดประสงค์และวิธีการนั้นต่างกัน เพราะ Minimalism ลดทอนให้เหลือแต่แก่นเพื่อสร้างประสบการณ์แก่ผู้ชม แต่ Bauhaus เน้นที่ประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า Bauhaus ได้สร้างรากฐานสำคัญให้แก่ Minimalism (แต่หลังจากนั้น Minimalism ก็พัฒนาต่อไปในแนวทางของตนเอง) และหลังจากโรงเรียนศิลปะของ Bauhaus ต้องปิดตัวลงในปี 1933 อันเนื่องมาจากความกดดันทางการเมืองหลังการเติบโตของพรรคนาซี ศิลปินและสถาปนิก Bauhaus หลายคน อย่าง Gropius และ Mies van der Rohe ก็เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา และได้นำเอาสุนทรียะแบบมินิมัลลิสม์ไปมอบให้แก่สถาปัตยกรรมของสหรัฐอเมริกาด้วย
จนถึงทุกวันนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์จากศิลปิน Bauhaus จำนวนไม่น้อยที่มีการผลิตซ้ำขึ้นเพื่อจำหน่ายอยู่ โดยเฉพาะ Wassily Chair และ Barcelona Chair ที่บริษัท Knoll เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ และยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ในฝันที่สถาปนิกนักออกแบบหลายคนอยากได้มาครอบครอง
เมื่อ BD Barcelona เสกเอาจิตรกรรมสองมิติของ Dalí ให้ออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์
ถ้า Knoll เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้เรานึกถึงชิ้นงานระดับตำนาน อย่าง Wassily Chair หรือ Barcelona Chair อย่างที่กล่าวไปแล้ว ชื่อของ BD Barcelona ก็น่าจะทำให้เราจำภาพของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แนวอะวองการ์ด (Avant-garde) ที่พาเอาเส้นแบ่งระหว่างงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์เข้าไปในเขตของโลกศิลปะ โดยเฉพาะผลงานอย่าง ‘Dalilips’ ของศิลปิน Surrealist คนสำคัญของศตวรรษที่ 20 Salvador Dalí
‘Dalilips’ เป็นโซฟารูปปากสีแดงสดของ Mae West นักแสดงสาวชาวอเมริกันที่ Dalí หลงใหล โซฟาชิ้นนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Dali และ Oscar Tusquets ในปี 1972 และมีจุดเริ่มต้นมาจากจิตรกรรมเซอร์เรียลลิสต์ของ Dalí ชื่อ ‘The Mae West Room’ (1934) ที่เขาวาดภาพห้องห้องหนึ่งที่มีการจัดองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ออกมาเหมือนกับโครงหน้าของ Mae West โดยส่วนปากของนักแสดงสาวนั้นคือโซฟาสีแดง
ถ้าลองไล่ย้อนดูประวัติศาสตร์ของศิลปินและเฟอร์นิเจอร์ ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ Dalí คนเดียวที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพราะ Pablo Picasso เองก็เคยสเก็ตช์รูปเก้าอี้ ตัดออกมาแล้วพับแบบงานออริกามิ แล้วให้ช่างฝีมือนำไปขึ้นรูปเป็นเก้าอี้รูปทรงคิวบิก ชื่อ ‘Chair’ (1961) หรือ Yayoi Kusuma ก็มีผลงานที่เป็นเก้าอี้อยู่ที่ MoMA คือ ‘Accumulation No.1’ (1962) โดยเธอนำอาร์มแชร์ไม้มาหุ้มด้วยงานผ้าจำนวนมากที่เธอเย็บมือขึ้นเป็นรูปทรงคล้ายองคชาติ (จนเก้าอี้ออกมาเหมือนถูกหุ้มด้วยพรมเช็ดเท้าตัวหนอน)
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเก้าอี้ของ Picasso และ Kusuma จะถือเป็นการขยายขอบเขตคำจำกัดความของศิลปะให้แผ่เข้าไปในดินแดนของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แต่ผลงานทั้งสองชิ้นก็ดูจะเป็นการทดลองรูปแบบใหม่ๆ ของศิลปะ หรือเป็นการนำเอาเฟอร์นิเจอร์มาใช้เพื่อเพิ่มความหมายที่ศิลปินต้องการสื่อ มากกว่าจะสร้างสรรค์ออกมาให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานได้จริง (โดยเฉพาะเก้าอี้รูปทรงบิดไปบิดมาของ Picasso ที่ดูแล้วไม่น่านั่งได้สบายเลยสักนิด) ลักษณะข้อนี้เมื่อเปรียบเทียบกับโซฟารูปปากสีแดงสดของ Dalí แล้ว ก็ต้องบอกว่า Dalí ชนะขาด ไม่ใช่เพราะโซฟาของเขาใช้งานได้จริงหรือว่าเมื่อนำไปตั้งในห้องก็กลายเป็น art piece ที่ดึงดูดสายตาได้เท่านั้น แต่เพราะ ‘Dalilips’ คือการนำเอาภาพจิตรกรรมสองมิติมาทำให้กลายเป็นวัตถุสามมิติ หรือจะบอกว่ามันทำให้ศิลปะของ Dalí มีชีวิตขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของเราก็ได้… ถ้า “เรา” ที่ว่านั้นยอมควักเงินสักแสนห้าจ่ายสำหรับชิ้นงาน reproduction ที่ทำจากพลาสติกโพลีเอทิลีน
นอกจาก ‘Dalilips’ แล้ว ยังมีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ จาก BD Barcelona ที่เสกจิตรกรรมของ Dalí ให้ออกมาเป็นวัตถุ เช่น ‘Leda Sculpture-Armchair’ ประติมากรรม-เก้าอี้ทองเหลืองที่ขาทั้งสามออกแบบเป็นรองเท้าส้นสูงของผู้หญิง และมีที่มาจากจิตรกรรมชื่อ ‘Woman with Head of Roses’ (1935) ที่ปรากฏประติมากรรม-เก้าอี้แบบเดียวกันอยู่ในภาพ ส่วนอีกชิ้นคือ ‘Xai Table’ โต๊ะข้างตัวเล็กรูปแกะน้อยทำจากลูกแกะสตาฟฟ์ มีลิ้นชักเล็กๆ เปิดออกมาตรงบริเวณช่องท้อง ด้านบนเป็นท๊อปกลมสำหรับวางของ และอุ้งเท้าทั้งสี่ข้างของลูกแกะเป็นทองเหลืองแวววาว โต๊ะหลุดโลกนี้ Oscar Tusquets ที่เคยร่วมงานกับ Dalí ใน ‘Dalilips’ ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรม ‘Interpretations Project for a Stable Library’ (1942) ของ Dalí ที่ในภาพเป็นรูปหญิงสาวนอนอยู่ท่ามกลางฝูงแกะและมีแกะตัวนึงเป็นโต๊ะที่มีลิ้นชัก
เช่นเดียวกับ ‘Dalilips’ ผลงานทั้งสองชิ้นคือโอกาสให้คนรักศิลปะได้มีลายเซ็นของ Dalí ประดับอยู่ในบ้าน (แถมยังใช้งานได้ด้วย) โดยราคาที่ต้องจ่ายอยู่ที่ราวสองล้านหนึ่งแสนและสามล้านแปดแสนบาท ตามลำดับ
The Eames Office X Herman Miller งานคอลแล็บที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ในประวัติศาสตร์ของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หนึ่งใน collaboration ที่จัดเป็นระดับตำนาน ต้องมี Charles & Ray Eames X Herman Miller ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ‘The Eames Lounge Chair and Ottoman’ รวมอยู่ด้วยแน่นอน ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นไอคอนของ American Design และวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ นิตยสาร และรายการโทรทัศน์นับไม่ถ้วน เพราะนอกจากจะสวยเท่แบบ Modernist และ Minimalist ด้วยเส้นโค้งอันสง่างามแล้ว การใช้ไม้อัดมาขึ้นแบบและใช้ร่วมกับงานหนัง ก็ยังใช้ฝีมือเชิงช่างสุดพิถีพิถัน แถมยังออกแบบมารองรับสรีระของมนุษย์ได้อย่างหมดจด
‘The Eames Lounge Chair and Ottoman’ เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในปี 1956 ซึ่งต่อเนื่องมาจากการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างสองฝ่ายในปี 1946 กับผลงานชิ้นแรก ‘Eames Molded Plywood Chairs’ ที่ Time Magazine ยกย่องว่าเป็น The Best Design of 20th Century จนถึงวันนี้ ความร่วมมือระหว่าง Herman Miller และ The Eames Office ก็ยังคงดำเนินอยู่ โดยเป็นการทำงานร่วมกันอย่างแนบแน่นของทายาทและผู้บริหารเจเนอเรชั่นที่ 3 และ 4 ของทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่ผู้ใช้สามารถได้รับประสบการณ์ที่แท้จริงไม่ต่างจากชิ้นงานเดิม (Herman Miller เป็นผู้ผลิตรายหลักที่ได้ลิขสิทธิ์สำหรับการจำหน่ายทั่วโลก ยกเว้นยุโรปและตะวันออกกลางที่บริษัทที่ได้สิทธิในการจำหน่ายคือ Vitra)
ในปี 1946 ที่คู่สามีภรรยานักออกแบบจากตระกูล Eames เริ่มทำงานร่วมกับ Herman Miller การคอลแล็บระหว่างศิลปินนักออกแบบและบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ยังเป็นเรื่องที่ไม่แพร่หลายนักในช่วงเวลานั้น คือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และนับเป็นเวลาราว 13 ปี หลัง Bauhaus ปิดฉากลง ซึ่งเพราะได้แนวคิดการรวมกันระหว่างศิลปะ งานออกแบบ งานฝีมือ และเทคโนโลยี ของ Bauhaus ปูพื้นฐานไว้ และมีความสำเร็จอันงดงามของ ‘The Eames Lounge Chair and Ottoman’ ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินและผู้ผลิต โดยปัจจัยหนึ่งในความสำเร็จนั้นเป็นผลมาจากงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับทั้งสุนทรียศาสตร์และประโยชน์ใช้สอย และแม้ว่าจะใช้วัสดุแบบอุตสาหกรรมแต่ก็เต็มไปด้วยความประณีต ดังนั้นในช่วงเวลาต่อมา เราจึงค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ในปี 1946 ที่คู่สามีภรรยานักออกแบบจากตระกูล Eames เริ่มทำงานร่วมกับ Herman Miller การคอลแล็บระหว่างศิลปินนักออกแบบและบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ยังเป็นเรื่องที่ไม่แพร่หลายนักในช่วงเวลานั้น คือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และนับเป็นเวลาราว 13 ปี หลัง Bauhaus ปิดฉากลง ซึ่งเพราะได้แนวคิดการรวมกันระหว่างศิลปะ งานออกแบบ งานฝีมือ และเทคโนโลยี ของ Bauhaus ปูพื้นฐานไว้ และมีความสำเร็จอันงดงามของ ‘The Eames Lounge Chair and Ottoman’ ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินและผู้ผลิต โดยปัจจัยหนึ่งในความสำเร็จนั้นเป็นผลมาจากงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับทั้งสุนทรียศาสตร์และประโยชน์ใช้สอย และแม้ว่าจะใช้วัสดุแบบอุตสาหกรรมแต่ก็เต็มไปด้วยความประณีต ดังนั้นในช่วงเวลาต่อมา เราจึงค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับงาน collaboration ใน พ.ศ. นี้ กลายเป็นเรื่องปกติไปเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ว่าแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยหรือแบรนด์ใหญ่แบรนด์หรู ก็ล้วนพยายามหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกับศิลปินเพื่อใช้ศิลปะเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตน แม้แต่แบรนด์ตลาดที่เป็น mass production ในราคาที่ผู้บริโภคส่วนมากจับต้องได้และมียอดขายทั่วโลกอย่าง IKEA ก็มีรายชื่อศิลปินและนักออกแบบที่เคย X กันยาวเป็นหางว่าว และหลายครั้งชื่อของศิลปินเหล่านั้นก็ทำให้สินค้าของพวกเขาขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรกๆ อย่าง คอลเล็กชั่น Markerad ที่ IKEA X Virgil Aboloh ก็มีคนไปตั้งแคมป์เข้าคิวรอล่วงหน้าถึงสองวัน และขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว ถือว่าเป็นความสำเร็จของแบรนด์และเป็นกำไรของผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน
อ้างอิง: knoll.com, bdbarcelona.com, hermanmiller.com
Story: Tunyaporn Hongtong