Design
Biophilic Design For Urban Living
ถ้าพูดถึงหนึ่งในเทรนด์แต่งบ้านที่มาแรงที่สุดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ต้องมี Biophilic Design หรือ งานออกแบบที่เน้นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้าสู่ธรรมชาติ รวมอยู่ด้วยแน่นอน
Biophilic Design ฮ็อตแค่ไหน ให้ดูจากเพจแต่งบ้านหลายต่อหลายเพจที่ตกแต่งบ้าน ทาวน์โฮม หรือแม้แต่ห้องเล็กๆ ในคอนโดมีเนียม ให้มีบรรยากาศอบอุ่นด้วยแสงธรรมชาติและนำเอาไม้ในร่มเข้าไปจัดวางจนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีชีวิตชีวา หรือครีเอเตอร์หลายคนก็ยังเนรมิตระเบียงเล็กๆ ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าส่วนตัว โดยมีแมวสองสามตัวเป็นตัวละครหลักนั่งๆ นอนๆ เดินไปเดินมา
ทำไม Biophilic Design ถึงได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน? คำตอบน่าจะเป็นเพราะว่า ยิ่งผู้คนในเมืองใหญ่ห่างไกลธรรมชาติมากขึ้นเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งโหยหาธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ยังไม่นับที่ทุกวันนี้ หลายคนหันมาสนใจดูแลสุขภาพในองค์รวมมากขึ้น (wellbeing) โดยเฉพาะแนวคิด work-life balance ที่สนับสนุนให้คนในวัยทำงานมีสุขภาพกาย-ใจที่ดีและมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในหนทางแห่งสมดุลชีวิตที่ว่าก็คือ การเพิ่มเติมธรรมชาติเข้ามาไว้ในที่อยู่อาศัย
แต่ Biophilic Design ไม่ใช่แค่การแต่งบ้านด้วยต้นไม้เขียวๆ เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่จะช่วยพาคุณเข้าใกล้ชิดกับธรรมชาติได้มากขึ้น แม้ว่าคุณจะอาศัยอยู่บนตึกสูงกลางเมืองใหญ่ที่วุ่นวายก็ตาม
แสงธรรมชาติ
นอกจากสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าแล้ว แสงอาทิตย์คือองค์ประกอบสำคัญที่สร้างบรรยากาศรื่นรมย์ให้กับพื้นที่ภายใน หรือจริงๆ แสงอาจเชื่อมโยงเราเข้ากับธรรมชาติได้มากกว่าต้นไม้ในบ้านด้วยซ้ำ เพราะการรับรู้ถึงแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน แต่ละฤดูกาล ช่วยให้เรารับรู้ถึงเวลาที่เปลี่ยนไป และนั่นคือการเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับจังหวะของธรรมชาติรอบตัวที่แท้จริง
ประโยชน์ของแสงธรรมชาติยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะช่วยปรับอารมณ์ ลดความตึงเครียด ช่วยให้เรามีสมรรถภาพในการทำงานที่ดีขึ้น และช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้นด้วย
หากเป็นการสร้างบ้านขึ้นใหม่ การเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามายังพื้นที่ภายในมักเริ่มจากการใช้ช่องเปิดขนาดใหญ่ เช่น หน้าต่างบานใหญ่จากพื้นจรดเพดาน หลังคาโปร่งใส/แสง (skylight) และประตูกระจก เป็นต้น แต่สำหรับห้องในคอนโดมีเนียมที่ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้มากนัก ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มแสงธรรมชาติภายในห้องได้ เช่น การติดตั้งม่านโปร่งแสง (sheer curtain) มูลี่หรือม่านบานเกล็ด (blind) ที่สร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดให้แสงภายนอกเข้ามาได้ในปริมาณที่พอเหมาะ นอกจากนั้น การติดตั้งกระจกหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นกระจก เช่น โต๊ะตัวเตี้ยที่มีท๊อปเป็นกระจกในจุดที่เหมาะสม ยังช่วยกระจายแสงเข้ามายังพื้นที่ภายใน ทำให้ห้องสว่างไสวและมีชีวิตชีวามากขึ้น
QoQoon Recommends
สำหรับในมุมของห้องที่แสงธรรมชาติเข้าไม่ถึงจริงๆ เราแนะนำให้ใช้หลอดไฟ LED ที่มีอุณหภูมิสีของแสง หรือ color temperature ต่ำ อย่างหลอด warm white สีขาวอมเหลืองที่มี color temperature 2,700-3,200k ก็จะเป็นแสงที่เลียนแบบแสงธรรมชาติได้มากที่สุดและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย
เฟอร์นิเจอร์
หลักการเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ Biophilic Design มีอยู่ 3 ข้อง่ายๆ คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ รูปทรงออแกนิก และโทนสีธรรมชาติ (เช่น สี sage green หรือเขียวอมเทา สีเทาอ่อน สี sandy beige หรือเนื้ออมชมพู เป็นต้น)
ในจำนวน 3 ข้อที่ว่า QoQoon ขอเลือกให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด เพราะส่วนมากแล้วเมื่อเป็นวัสดุธรรมชาติ โทนสีที่ตามมาก็มักเป็นโทนสีตามธรรมชาติเช่นกัน ที่สำคัญ วัสดุธรรมชาติ อย่าง ไม้ หิน ดินเผา ฝ้าย ลินิน หวาย ฯลฯ ยังมาพร้อมผิวสัมผัส (texture) ที่อบอุ่นละมุนละไม ซึ่งเมื่อการสัมผัสบวกเข้ากับการมองเห็นวัสดุที่อยู่ในโทนสีสบายตาและลวดลายอย่างที่ธรรมชาติสร้างมา ก็ยิ่งเชื่อมต่อเราเข้ากับความอบอุ่นเป็นมิตรของธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น
“ไม้” คือวัสดุธรรมชาติอันดับแรกที่เราคิดว่าทุกบ้านควรมี ไม่ใช่แค่เพราะว่าไม้มีโทนสี ลวดลาย และผิวสัมผัสที่สามารถทำให้บ้านอบอุ่นและน่าอยู่ขึ้นได้อย่างง่ายดายเท่านั้น แต่ยังเพราะสัมผัสของไม้สามารถทำให้ระบบประสาทของเราสงบได้มากกว่าวัสดุธรรมชาติอื่นๆ และจากงานวิจัยของ University of British Columbia และ Brown University พบว่า องค์ประกอบของไม้ที่ถูกนำมาตกแต่งอยู่ในพื้นที่ภายในอาคารสามารถช่วยลดความเครียดได้มากกว่าต้นไม้เสียอีก และห้องที่มีพื้นผิวเป็นไม้ราว 45% จะช่วยลดความดันโลหิตของผู้อยู่อาศัยได้
“ไม้” คือวัสดุธรรมชาติอันดับแรกที่เราคิดว่าทุกบ้านควรมี ไม่ใช่แค่เพราะว่าไม้มีโทนสี ลวดลาย และผิวสัมผัสที่สามารถทำให้บ้านอบอุ่นและน่าอยู่ขึ้นได้อย่างง่ายดายเท่านั้น แต่ยังเพราะสัมผัสของไม้สามารถทำให้ระบบประสาทของเราสงบได้มากกว่าวัสดุธรรมชาติอื่นๆ และจากงานวิจัยของ University of British Columbia และ Brown University พบว่า องค์ประกอบของไม้ที่ถูกนำมาตกแต่งอยู่ในพื้นที่ภายในอาคารสามารถช่วยลดความเครียดได้มากกว่าต้นไม้เสียอีก และห้องที่มีพื้นผิวเป็นไม้ราว 45% จะช่วยลดความดันโลหิตของผู้อยู่อาศัยได้
QoQoon’s Favourite
เฟอร์นิเจอร์ไม้มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่แบรนด์เล็กๆ ไปจนถึงชิ้นที่เป็นฝีมือดีไซเนอร์ระดับไอคอน หนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ไม้คอนเซ็ปต์ Biophilic Design ในใจของ QoQoon ตลอดกาล คือ Wishbone Chair (1949) โดย Hans Wegner ที่มีโครงเก้าอี้ ขา และพนัก ทำจากไม้ชิ้นสวย อยู่ในเส้นสายแบบออแกนิกโค้งมน ส่วนตัวที่นั่งนำเอาเชือกกระดาษ (paper cord) มาถักด้วยมือเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ แน่นหนา แต่ก็นั่งสบายและยืดหยุ่น นอกจากนั้น วัสดุและเส้นสายที่ว่ามายังทำให้ Wishbone Chair ดูโปร่งและให้ความรู้สึกเบาสบาย
ศิลปะ
ลองคิดดูว่าถ้าบ้านของคุณมีเพนต์ติ้ง ‘Water Lilies’ ของ Claude Monet ติดอยู่บนผนังขนาดใหญ่ และมีแสงอาทิตย์อ่อนๆ สาดไล้ลงมาบนพื้นไม้สีอ่อน… ความรู้สึกของคุณที่ตื่นมาเห็นภาพนี้ทุกวันจะงดงามขนาดไหน
ศิลปะช่วยเชื่อมโยงคุณกลับเข้าสู่ธรรมชาติได้ แม้จะเป็นไปในทางอ้อมๆ ที่ซับซ้อนสักหน่อย แต่ก็ยืนยันว่าทำได้ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้บอกให้คุณต้องทุ่มทุนซื้องานศิลปะราคาแพงมาประดับบ้าน เพราะขอแค่เป็นภาพแลนด์สเคปสวยๆ ไม่ว่าจะเพนต์ติ้งหรือภาพถ่ายก็ตามที่คุณดูแล้วรู้สึกสบายใจ หรืออาจเป็นศิลปะแนว abstract ที่ใช้โทนสีธรรมชาติก็ได้เหมือนกัน
QoQoon’s Pick
อย่างที่เราเคยบอกกันไปแล้วใน ‘Furniture as Art’ ว่าเฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้านชิ้นสวยก็สามารถทำหน้าที่เสมือนศิลปะได้ ใครสนใจวิธีนี้และชอบแนวมินิมัล ลองดูงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้เส้นโค้งมน โทนสีธรรมชาติ และวัสดุธรรมชาติ อย่างผลงานของดีไซเนอร์ชาวเดนมาร์ก Kristina Dam ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์แจกันทรงโค้งสวย Dome Vase ที่ทำจากวัสดุดินเผาและเคลือบสีเทา, ภาชนะเก็บของกระจุกกระจิกทำจากไม้โอ๊ค Wooden Sphere ที่เหมือนเอาชาวข้าวญี่ปุ่นสองใบมาวางประกบกัน และอีกชิ้นที่เราชอบมากๆ คือ Column Coat Rack ที่แขวนเสื้อโค้ททำจากไม้ที่ดูอย่างกับถอดแบบมาจากงานสถาปัตยกรรมยังไงยังงั้น แค่ติดไว้บนผนังก็เหมือนมีงานศิลปะแบบ Biophilic Design อยู่ในบ้านแล้ว
เสียง
เสียงเป็นองค์ประกอบทางงานออกแบบที่หลายคนมักมองข้าม ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เสียงส่งผลต่อร่างกาย สมอง อารมณ์ และจิตใจของเรา ไม่แพ้ภาพและสัมผัส
การออกแบบเสียงสำหรับที่พักอาศัยกลางเมืองใหญ่ควรเริ่มจากการลดเสียงรบกวนจากภายนอกเสียก่อน เช่น ติดตั้งแผ่นกันเสียงที่ด้านล่างของประตู ใช้ม่านชั้นที่สองเป็นม่านดูดซับเสียง และอีกวิธีที่ช่วยได้มากคือ ใช้ต้นไม้ดูดซับเสียง
จากนั้นถึงจะเป็นการออกแบบเสียงให้กับที่พักอาศัยของคุณ โดยเสียงธรรมชาติที่ส่งผลดีต่อเราได้มากที่สุด คือ เสียงน้ำ เพราะเสียงน้ำ เช่น เสียงคลื่น เสียงลำธาร หรือแม้แต่เสียงการเคลื่อนไหวของน้ำเบาๆ จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ ลดความเครียด ลดความดันโลหิต และกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine หรือสารแห่งความสุข และ Oxytocin หรือฮอร์โมนความรัก ช่วยให้เราผ่อนคลายได้อย่างดี
นอกจากนั้น เสียงไม้ไผ่ก็เป็นอีกทางเลือกของเสียงธรรมชาติที่สงบ ดูได้จาก Shishi-odoshi (ชิชิโอโดชิ) หรือ น้ำตกทำจากกระบอกไม้ไผ่สองท่อนที่สลับกันกระดกลงมาเคาะฐานหินด้านล่างเมื่อน้ำไหลมาล้นกระบอก ที่เป็นอีกเสียงที่สร้างความสงบได้อย่างดีในสวนเซน แต่แน่นอนว่าสำหรับห้องพักในคอนโดหรือแม้แต่ในบ้านทั่วไป สวนเซนไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นลองดูพวกกระดิ่งลมไม้ไผ่แทนก็แล้วกัน
จากนั้นถึงจะเป็นการออกแบบเสียงให้กับที่พักอาศัยของคุณ โดยเสียงธรรมชาติที่ส่งผลดีต่อเราได้มากที่สุด คือ เสียงน้ำ เพราะเสียงน้ำ เช่น เสียงคลื่น เสียงลำธาร หรือแม้แต่เสียงการเคลื่อนไหวของน้ำเบาๆ จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ ลดความเครียด ลดความดันโลหิต และกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine หรือสารแห่งความสุข และ Oxytocin หรือฮอร์โมนความรัก ช่วยให้เราผ่อนคลายได้อย่างดี
นอกจากนั้น เสียงไม้ไผ่ก็เป็นอีกทางเลือกของเสียงธรรมชาติที่สงบ ดูได้จาก Shishi-odoshi (ชิชิโอโดชิ) หรือ น้ำตกทำจากกระบอกไม้ไผ่สองท่อนที่สลับกันกระดกลงมาเคาะฐานหินด้านล่างเมื่อน้ำไหลมาล้นกระบอก ที่เป็นอีกเสียงที่สร้างความสงบได้อย่างดีในสวนเซน แต่แน่นอนว่าสำหรับห้องพักในคอนโดหรือแม้แต่ในบ้านทั่วไป สวนเซนไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นลองดูพวกกระดิ่งลมไม้ไผ่แทนก็แล้วกัน
QoQoon’s Pick
ส่วนการเพิ่มเสียงน้ำเข้าไปในที่พักอาศัย ลองดูแบรนด์ไทย LONN FIBERGLASS ที่เป็นอ่างน้ำล้นหลายแบบ หลายขนาด ทำจากไฟเบอร์กลาส จึงมีน้ำหนักเบา แถมดีไซน์ยังเรียบง่ายและมีลวดลายแบบหินขัด ที่สำคัญ ไม่ต้องเดินระบบน้ำให้ยุ่งยาก แค่เติมน้ำและเสียบปลั๊ก และเขามีอ่างน้ำล้นขนาดเล็กสำหรับตั้งโต๊ะด้วย นำไปวางในห้องคอนโดได้
อ้างอิง: archdaily.com, kristinadam.dk, carlhansen.com, lonnfiberglass.com
Story: Tunyaporn Hongtong