Art & Lifestyle
Bangkok Art Biannale 2024
Nurture Gaia
เก็บตกงานศิลปะ ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติ และความเป็นแม่
หากว่าตามธรรมชาติของมนุษย์ เรามักจะตั้งชื่อให้กับสิ่งต่างๆ ในโลกโดยเชื่อมโยงหรือเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเรา เพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดอัตลักษณ์ ตัวตน และนำไปสู่การเป็นเจ้าของ เช่น ในศาสนาฮินดูมี “พระแม่ปฤถวี” เป็นเทวีแห่งโลก ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับศาสนาพุทธที่มี “พระแม่ธรณี” เป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน และนัยยะเดียวกันนี้ก็ปรากฏอยู่ในตำนานปกรณัมกรีกในชื่อ “พระแม่ไกอา” (Gaia) เทพีผู้ให้กำเนิดธรรมชาติ แต่ไม่ว่าจะชื่อเรียกแบบใด ก็ทำให้เห็นว่ามนุษย์ล้วนเปรียบธรรมชาติกับความเป็นแม่
ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและความเป็นแม่นี้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biannale 2024) ที่จัดขึ้นทุกปี สำหรับครั้งนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2024 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2025 โดยมาในธีมที่ถูกตั้งชื่อว่า “Nurture Gaia รักษา กายา” ซึ่งถูกเล่าเรื่องผ่านผลงานศิลปะจาก 76 ศิลปินชั้นนำจาก 39 ประเทศทั่วโลก
ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นงานเป็นศิลปะร่วมสมัยที่ถ่ายทอดในหลายๆ รูปแบบ ต่างเต็มไปด้วยการนำเสนอเกี่ยวกับธรรมชาติและความเป็นแม่ ธรรมชาติที่เปลี่ยนไปด้วยน้ำมือของมนุษย์ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แปรผันตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย รวมไปถึงการกล่าวถึงธรรมชาติในรูปแบบที่มนุษย์ยึดครองเป็นเจ้าของ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมือง การปกครอง ความเหลื่อมล้ำตามอำนาจแห่งทุนนิยม และนิเวศวิทยา ฯลฯ โดยถูกจัดแสดงบน 11 แลนด์มาร์กสำคัญในกรุงเทพมหานครฯ ดังนี้
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
- วัน แบงค็อก
- ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
- วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
- วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
- วัดบวรนิเวศวิหาร
- มิวเซียมสยาม
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า)
งานศิลปะที่ถูกจัดแสดงในแต่ละพื้นที่ต่างทำหน้าที่เสริมความหมายให้พื้นที่นั้นๆ และสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมา เหมือนเป็นการตั้งคำถามในเชิงศิลปะกับผู้ที่พบเห็นว่า “แท้จริงแล้วธรรมชาติเป็นของมนุษย์ หรือมนุษย์เป็นของธรรมชาติ หรือทั้งสองสิ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน?”
เพื่อตอกย้ำความหมายของการเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตตามกงล้อของระบบทุนนิยม ดำเนินวิถีตามเทคโนโลยีที่ก้าวไกล และยังต้องรักษาคุณภาพชีวิตของตัวเองในทุกๆ วัน ควบคู่กับการรักษาความสัมพันธ์ของคนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผู้เขียนจึงคัดกลุ่มงานศิลปะในเทศกาลนี้ที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงสำคัญ โดยมุ่งหวังจะช่วยสร้างกระบวนการคิด และการพัฒนาสังคมที่สร้างสรรค์ โดยแบ่งตามสถานที่จัดงาน ดังต่อไปนี้
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
Twenty Years Later (2014)
ศิลปิน : Amanda Heng
Twenty Years Later ผลงานจาก อแมนดา ศิลปินผู้เป็นที่ยอมรับจากหลากหลายวงการ อาทิ วรรณกรรม จิตรกรรม การถ่ายภาพ ฯลฯ งานศิลปะชิ้นนี้เป็นงานศิลปะที่สะเทือนอารมณ์ และย้ำชัดถึงความจริงของการเป็นมนุษย์ที่โดยธรรมชาติแล้วไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างจีรัง เป็นการนำชุดภาพถ่ายของอแมนดาและมารดาของเธอมาสร้างใหม่ โดยเป็นชุดภาพถ่ายในช่วงเวลา 30 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2539, 2557 และ 2566 ก่อนที่มารดาของเธอจะเสียชีวิต ภาพถ่ายชุดนี้แสดงภาพแม่ลูกยืนอยู่ข้างกัน มองหน้ากัน กอดกัน ดูแลกันในวันที่สังขารอีกคนเริ่มโรยรา ฯลฯ ราวกับเป็นบันทึกความสัมพันธ์ของแม่ลูก ที่เริ่มจากความใกล้ชิด ไปจนถึงวันที่จำเป็นต้องมีอิสระต่อกัน
Experimental solution 57 (2024)
ศิลปิน : Yanawit Kunchaethong
ญาณวิทย์ กุญแจทอง ศิลปินชาวไทย ชาวจังหวัดเพชรบุรี เติบโตและผูกพันกับผืนป่าที่ได้รับการสืบทอดจากบิดาในพื้นที่กว่า 108 ไร่ ที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทำให้เขาได้ซึมซับ และเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ และกลายเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะของเขา
ญาณวิทย์ได้เลือกจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์กรุงเทพฯ และวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) โดยเชื่อมโยงความคิดระหว่างสองสถานที่ ผ่านโคลงกลบทพยัคฆ์ข้ามห้วยจากจารึกวัดโพธิ์ที่ประพันธ์ โดยกรมหมื่นไกรสรวิชิต วรรคหนึ่งว่า “จะนับวันคืนลับไม่กลับคืน” เขาได้นำต้นพยูงอายุ 40 ปีที่ล้มตายหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มาบดเป็นผง และโรยลงบนพื้น เพื่อสะท้อนถึงความสูญเสียของธรรมชาติ พร้อมตั้งคำถามว่า ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งระบบเป็นพลังสะอาดจริงหรือ?
งานศิลปะชิ้นนี้เหมือนกับย้อหยอกถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยช่วงแรกๆ ของการจัดแสดงผงต้นพยูงบนพื้น ตัวอักษรทุกตัวดูเป็นระเบียบเรียงต่อกันเป็นวงกลม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานผงบดต้นพยูงนี้กลับมีรอยเท้าของมนุษย์มาเดินเหยียบย่ำ ดูเลอะเทอะ อ่านไม่เป็นคำ ราวกับกำลังสื่อว่า แนวคิดที่เด็ดขาดและรักษ์สิ่งแวดล้อมของเขาถูกเพิกเฉยโดยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
งานศิลปะชิ้นนี้เหมือนกับย้อหยอกถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยช่วงแรกๆ ของการจัดแสดงผงต้นพยูงบนพื้น ตัวอักษรทุกตัวดูเป็นระเบียบเรียงต่อกันเป็นวงกลม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานผงบดต้นพยูงนี้กลับมีรอยเท้าของมนุษย์มาเดินเหยียบย่ำ ดูเลอะเทอะ อ่านไม่เป็นคำ ราวกับกำลังสื่อว่า แนวคิดที่เด็ดขาดและรักษ์สิ่งแวดล้อมของเขาถูกเพิกเฉยโดยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
Body Inside T-shirt (2024)
ศิลปิน : Moe Satt
โม สัท ศิลปินชาวพม่าที่ถ่ายทอดบริบทการเมืองปัจจุบันของประเทศเมียนมา ผ่านเสื้อยืดที่แขวนอยู่กลางอากาศ โดยมุ่งหวังให้เห็นรูปทรงที่ดูว่างเปล่า คล้ายกับการรับรู้ของนานาประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศเมียนมาที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร ที่มักจะเผยข่าวคราวภาพบางส่วนแต่ไม่ได้แสดงสภาพความเป็นจริงทั้งหมด
งานศิลปะแบบจัดวางนี้ถูกนำเสนอแบบแสดงสดก่อน โดยโม สัท ได้ใช้ร่างกายของตัวเองขดตัวอยู่ในเสื้อยืดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และเคลื่อนไหวร่างกายเพียงเล็กน้อยเพื่อสร้างรูปทรงให้กับเสื้อยืด อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานใช้ปากกาสีทองเขียนข้อความ หรือวาดภาพบนเสื้อยืดได้ โดยเป็นข้อความแสดงความหวัง และความเชื่อเกี่ยวกับการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิที่เมียนมา เมื่อจัดแสดงสดเสร็จเสื้อยืดดังกล่าวจะถูกนำมาแสดงในรูปแบบงานศิลปะแบบจัดวาง
งานศิลปะแบบจัดวางนี้ถูกนำเสนอแบบแสดงสดก่อน โดยโม สัท ได้ใช้ร่างกายของตัวเองขดตัวอยู่ในเสื้อยืดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และเคลื่อนไหวร่างกายเพียงเล็กน้อยเพื่อสร้างรูปทรงให้กับเสื้อยืด อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานใช้ปากกาสีทองเขียนข้อความ หรือวาดภาพบนเสื้อยืดได้ โดยเป็นข้อความแสดงความหวัง และความเชื่อเกี่ยวกับการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิที่เมียนมา เมื่อจัดแสดงสดเสร็จเสื้อยืดดังกล่าวจะถูกนำมาแสดงในรูปแบบงานศิลปะแบบจัดวาง
Mapping the Land Body Stories of its Past (2021)
ศิลปิน : Bagus Pandega & Kei Imaza
งานศิลปะแบบจัดวาง Mapping the Land Body Stories of its Past ผลงานจาก บากุส ปันเดกา กับ เคอิ มิมาซุ ได้แสดงปัญหาเรื่องระบบนิเวศทั่วประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ที่สะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติกำลังถูกทำลายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอุตสาหกรรม
ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่เป็นลำดับที่ 39 ของโลก จนน้ำมันปาล์มเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมในประเทศอินโดนีเซียเติบโต และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ามองลึกถึงกระบวนการผลิต เราจะเห็นอีกแง่ของการพัฒนาที่เกิดขึ้น ซึ่งในงานศิลปะชิ้นนี้ได้ถ่ายทอดในเรื่องการถางป่าดิบชื้นที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีววิทยา และสวนปาล์มหลายๆ สวนที่เติบโตขึ้นนั้นไม่สามารถเป็นที่พักพิงอาศัยสำหรับสัตว์ในป่าดิบชื้นได้
บากุส ปันเดกา และ เคอิ อิมาซุ ได้ใช้ภาพลายเส้นวาดด้วยพู่กันซึ่งควบคุมโดยตัวนำไฟฟ้าจากธรรมชาติซึ่งสะกัดจากต้นปาล์ม โดยภาพที่ถูกระบายด้วยพู่กันนี้จะถูกลบด้วยการไหลของน้ำในช่วงเวลาเดียวกัน
วัน แบงค็อก
It is, it isn't (2011)
ศิลปิน : Tony Cragg
Tony Cragg ประติมากรชาวอังกฤษที่มักผลิตงานศิลปะที่อ้างอิงจากรูปแบบของธรรมชาติ และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในโลก เขาได้สร้างผลงาน It is, It isn’t เป็นประติมากรรมสาธารณะที่ใช้แผ่นสแตนเลสมาจัดรูปร่าง เหมือนก้อนหินขนาดยักษ์เรียงซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ จนเป็นงานขนาดใหญ่ สูงโดดเด่น โดยถูกจัดวางตระหง่านกลางลานพลาซ่าของ วัน แบงค็อก
งานศิลปะจัดวางครั้งนี้ Tony ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปร่างมนุษย์ แต่นำเสนอในรูปแบบสุดเซอร์เรียล เมื่อมองดูจะหวนนึกถึงใบหน้าคน การใช้วัสดุสเตนเลสก็สะท้อนถึงสังคมอุตสาหกรรม เมื่อมองเข้าไปในเงาสะท้อนก็จะปรากฏให้เห็นทั้งคนที่สัญจรไปมา และต้นไม้สีเขียว เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่า มนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ถูกสร้างขึ้น หรือเกิดขึ้นเอง ต่างมีรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง แต่ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสวยงาม และกลมกลืน
งานศิลปะจัดวางครั้งนี้ Tony ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปร่างมนุษย์ แต่นำเสนอในรูปแบบสุดเซอร์เรียล เมื่อมองดูจะหวนนึกถึงใบหน้าคน การใช้วัสดุสเตนเลสก็สะท้อนถึงสังคมอุตสาหกรรม เมื่อมองเข้าไปในเงาสะท้อนก็จะปรากฏให้เห็นทั้งคนที่สัญจรไปมา และต้นไม้สีเขียว เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่า มนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ถูกสร้างขึ้น หรือเกิดขึ้นเอง ต่างมีรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง แต่ยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสวยงาม และกลมกลืน
S-Curve (2006)
ศิลปิน : Anish Kapoor
อนิช คาพัวร์ หนึ่งในศิลปินที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นศิลปินร่วมสมัยแถวหน้าในปัจจุบัน ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมายจากงานศิลปะของเขา คาพัวร์เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดเกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างสถาปัตยกรรมกับประติมากรรมที่ดูลางเลือน
ผลงานประติมากรรมสาธารณะ S-Curve เป็นแผ่นสเตนเลสขัดเงาเหมือนกระจกรูปทรงนูนและเว้า ที่ตั้งอยู่บริเวณพลาซ่าทำให้ภาพของสิ่งที่อยู่รอบๆ ขยาย บิดเบี้ยว เปลี่ยนไปจากที่คุ้นเคย และจะเปลี่ยนไปตามมุมมองเมื่อเดินผ่าน เป็นผลงานที่สร้างประสบการณ์ หรือมุมมองใหม่ คล้ายกับอีกมิติหนึ่งของโลกมนุษย์ที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมที่สอดผสานรวมกันพัลวันจนเป็นเอกภาพ
ผลงานประติมากรรมสาธารณะ S-Curve เป็นแผ่นสเตนเลสขัดเงาเหมือนกระจกรูปทรงนูนและเว้า ที่ตั้งอยู่บริเวณพลาซ่าทำให้ภาพของสิ่งที่อยู่รอบๆ ขยาย บิดเบี้ยว เปลี่ยนไปจากที่คุ้นเคย และจะเปลี่ยนไปตามมุมมองเมื่อเดินผ่าน เป็นผลงานที่สร้างประสบการณ์ หรือมุมมองใหม่ คล้ายกับอีกมิติหนึ่งของโลกมนุษย์ที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมที่สอดผสานรวมกันพัลวันจนเป็นเอกภาพ
Scale of Filtration (2020)
ศิลปิน : Tian Xiaolei
เถียน เสี่ยวเหล่ย ศิลปินที่ชื่นชอบนำเสนองานศิลปะคลาสสิกกับเทคโนโลยีร่วมสมัยเข้าด้วยกัน ด้วยสื่อวิดิโอดิจิตัล และศิลปะแบบจัดวาง โดยในงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอจุดตัดของมนุษย์และเทคโนโลยี ซึ่งเขาได้สะท้อนให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางดิจิตัลได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม อารมณ์ และอัตลักษณ์ของมนุษย์ โดยนำโมทีฟแบบดั้งเดิมมาตีความใหม่ แล้วสร้างสภาพแวดล้อมที่ดูเหนือจริง ท้าทายมุมมองแบบเดิมๆ เหมือนจำลองให้ผู้มาเยือนได้ก้าวเข้าไปในโลกไฮบริด และจินตนาการไปกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เขาได้คาดการณ์ไว้และมีแนวโน้มจะเป็นไปได้
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
Telle mère tel fils (2008)
ศิลปิน : Adel Abdessemed
อับเดสเซเหม็ด ศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่มักแสดงผลงานภาพวาด ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง การแสดงและวีดิทัศน์ เป็นที่รู้จักกันดีจากเนื้อหาของงานที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง งานของเขาถ่ายทอดเรื่องราวที่เปราะบางของการใช้ชีวิตแต่ยังมีความงดงามร่วมด้วย
งาน Telle mere tel fils (เหมือนแม่ เหมือนลูกชาย) ประกอบด้วยเครื่องบินจำลองสามลำ ห้องนักบิน และหางมีผ้าสักหลาดเป่าลม ตรงบริเวณกลางลำที่ประดิษฐ์ใหม่ให้ดูพันกันยุ่งเหยิงคล้ายกันลำตัวของงู เหมือนเป็นการสมมติภาพเทคโนโลยีกลศาสตร์ที่ได้ย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิม และล้อไปกับวลี “Like father like son” (เหมือนพ่อ เหมือนลูกชาย) แปรเปลี่ยนให้เป็น “Like mother like son” (เหมือนแม่ เหมือนลูกชาย)
ศิลปะจัดวางโลหะที่เซอร์เรียลนี้สามารถตีความได้หลากหลายนัยยะตามประสบการณ์ของผู้รับชม โดยจากตัวศิลปินเองเขามุ่งถ่ายทอดในเรื่องสายใยความสัมพันธ์ของแม่กับลูกชาย โดยยังสามารถตีความกำกวมไปสู่เรื่องความรัก ความใคร่ และอำนาจทางเพศสภาพ หรือถ้าตีความตามบริบทของการปกครองในหลายๆ ประเทศ หรือคิดในแง่ของปิตาธิปไตย งานศิลปะนี้อาจเปลี่ยนวลี “เหมือนแม่ เหมือนลูกชาย” ให้กลายเป็น “เหมือนพ่อ เหมือนลูกสาว”
ศิลปะจัดวางโลหะที่เซอร์เรียลนี้สามารถตีความได้หลากหลายนัยยะตามประสบการณ์ของผู้รับชม โดยจากตัวศิลปินเองเขามุ่งถ่ายทอดในเรื่องสายใยความสัมพันธ์ของแม่กับลูกชาย โดยยังสามารถตีความกำกวมไปสู่เรื่องความรัก ความใคร่ และอำนาจทางเพศสภาพ หรือถ้าตีความตามบริบทของการปกครองในหลายๆ ประเทศ หรือคิดในแง่ของปิตาธิปไตย งานศิลปะนี้อาจเปลี่ยนวลี “เหมือนแม่ เหมือนลูกชาย” ให้กลายเป็น “เหมือนพ่อ เหมือนลูกสาว”
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
(un)common intimacy (2018)
ศิลปิน : Jessica Segall
เจสสิก้า ซีกัล อธิบายงานศิลปะ (un)common intimacy ว่า “เล่นกับความเสี่ยงในการทำงานกับสิ่งแวดล้อม และความเปราะบางของสิ่งแวดล้อมเองด้วย” งานของซีกัลแสดงถึงความเป็นห่วงในปัญหาระบบนิเวศวิทยาอย่างลึกซึ้ง โดยงานจัดแสดงศิลปะในครั้งนี้ เธอเน้นในประเด็นของการถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาที่กดทับการใช้ชีวิตของคนและสัตว์ไว้ เธอตัดสินใจถ่ายวิดิโอตัวเธอเองดำน้ำอยู่กับสัตว์ดุร้ายอย่างเสือ และจระเข้ ที่อยู่ในสวนสัตว์ซึ่งเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพื่อถ่ายทอดชีวิตของสัตว์ที่เป็นเครื่องมือความบันเทิงของมนุษย์และระบบทุนนิยม แต่ในอีกแง่งานศิลปะครั้งนี้ก็ทำให้ได้ใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ที่อ่อนโยนจากเพศหญิง และความเป็นแม่ ที่เรามักนำไปเปรียบกับธรรมชาติ
เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biannale 2024) ในครั้งนี้ คืออีกหนึ่งเทศกาลที่ทำให้คนได้ตระหนักคิดในเรื่องการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ และการเป็นอยู่ในสังคม ผ่านงานศิลปะขนาดเล็กใหญ่ จากหลากหลายศิลปินทั่วโลก ซึ่งยังมีงานศิลปะอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจที่ถูกจัดแสดงไว้รอให้คุณเข้าไปสัมผัส และไตร่ตรองถึงนัยยะต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ bkkartbiennale.com